Custom Search By Google

Custom Search

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พระเจ้าผู้ทรงเลี้ยงดูเรา



นคร เวชสุภาพร
http://www.holyofholies.net/sermon07/09_sep_9.htm

เราจะฟังถ้อยคำพระเจ้าในเช้าวันนี้ด้วยกัน ชื่อเรื่องคือ “ความพอเพียงในทางพระเจ้า” ตอนที่ 1 “เคล็ดลับในการรู้จักพอ” ในช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้ สถานการณ์อย่างนี้ ใครๆ ก็พูดมาหลายปีแล้ว และพูดกันมากยิ่งขึ้น คือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ในทางพระเจ้าก็มีเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน มีหนังสือ มีการอภิปรายมากมาย พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือความพอเพียง หรือมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ฟังแล้วบางคนก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ลึกซึ้งบ้าง ไม่ลึกซึ้งบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบไหน ทฤษฎีไหนก็ตาม ความพอเพียงเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับความคิดของคนในสังคม ในสถาบันนั้นๆ ว่ารู้จักพอหรือเปล่า ไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ


สรุปแล้วคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็คือคนนั้นรู้จักพอไหม ถ้าเป็นครอบครัวก็ต้องดูว่าจิตใจ และความคิดของสมาชิกในครอบครัวนั้น รู้จักพอหรือเปล่า ในทำนองเดียวกัน ระดับสังคมก็ต้องขึ้นอยู่กับคนในสังคมหรือในประเทศนั้น รู้จักคำว่าพอหรือไม่ ถ้ารู้จักคำว่าพอ ประเทศก็จะเกิดความพอเพียง


คำว่า “พอ” หรือ “รู้จักพอ”

ฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยากมาก และเป็นคำที่หาคำจำกัดความได้ยากมาก คำว่า “พอ” คือไม่โลภ ทุกศาสนาก็สอนให้คนเราไม่โลภ พูดง่าย แต่ทำยากมาก แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าถ้อยคำพระเจ้าจะสอนเราและบอกเรา


ยกตัวอย่างเช่น เรานึกถึงภาพการไปทานอาหารบุฟเฟ่ต์ เราทานเท่าไหร่ก็ได้ ไม่อั้น ปกติเราทานประมาณนี้อิ่มแล้ว แต่พอไปทานบุฟเฟ่ต์ปุ๊บ ทานจานหนึ่งไปแล้ว อิ่มแล้ว มีคนถามว่า “อิ่มหรือยัง” เราก็ตอบว่า “อิ่มแล้ว” แต่ถามว่า “พอหรือยัง” ก็เริ่มคิด “นี่บุฟเฟ่ต์ เดี๋ยวกินไม่คุ้มเงินที่จ่ายไป” เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะตอบว่า “ยังไม่พอ” ทั้งๆ ที่อิ่มแล้ว แต่ต้องขออีกหน่อยหนึ่ง กับอีกคนหนึ่งไปทานบุฟเฟ่ต์เหมือนกัน แต่คิดคนละอย่างกัน คิดว่า “กินอิ่มพอดีแล้ว ถ้ากินมากเกินไปเดี๋ยวท้องอืด เป็นภัยกับตัวเองอีก เดี๋ยวไขมันเพิ่ม น้ำหนักเพิ่ม เป็นโทษกับสุขภาพร่างกาย เพราะฉะนั้นพอดีกว่า” เขาก็กินอิ่มเหมือนกัน


เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียง จึงขึ้นอยู่กับความคิดว่าคนนั้นพอไหม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนที่มีหรือส่วนที่เป็น บางคนมีเท่าๆ กัน หรือบางคนมีมากกว่าด้วยซ้ำไป กลับไม่พอ แต่คนที่มีน้อยกว่าอาจจะพอ ขึ้นอยู่กับความคิด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึก หรือวัตถุที่มีอยู่


หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คนทำงานสองคนเช่าบ้านพักอยู่ด้วยกัน มีค่าใช้จ่ายพอกัน คนหนึ่งมีเงินเดือนน้อยกว่า แต่ละเดือนก็มีเก็บเล็กน้อยสะสมไว้ คนที่มีเงินเดือนมากกว่าก็เก็บสะสมได้มากกว่า คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่าก็เก็บเงินได้น้อยกว่า แต่เขาคิดว่าแค่นี้ก็สบายแล้ว ไม่เดือดร้อน มีบ้านอยู่ มีเงินพอค่าใช้จ่ายทุกเดือน ไม่ต้องติดหนี้ใคร มีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วยเล็กน้อย ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ได้เงินเดือนมากกว่า กลับคิดว่าอยากได้บ้านที่ใหญ่ขึ้น อยากมีรถขับ อยากมีเงินเก็บเยอะๆ เอาไว้ใช้ตอนแก่ ไปเที่ยว

ถ้าถามสองคนนี้ด้วยคำถามเดียวกันว่า “พอใจไหมกับสิ่งที่มีอยู่” คนที่เงินเดือนน้อยกว่า ตอบว่า “พอใจแล้ว” ในขณะที่คนที่ได้เงินเดือนเยอะ มีเงินเก็บเยอะ กลับตอบว่า “ยังไม่พอ”

นี่คือตัวอย่างของคำว่า “พอ” กับ “ไม่พอ” เห็นไหมครับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินที่มีอยู่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่มีอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับความคิดของคนๆ นั้น ดังนั้นคำพูดที่ว่า “ยิ่งมีเยอะ ยิ่งอยากได้เยอะ” “ยิ่งมั่งคั่ง ยิ่งไม่รู้จักพอ” เป็นจริงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย


อย่างกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่สมัยกรีกโบราณ ที่บุกยึดเอาแผ่นดินต่างๆ มาอยู่ใต้การปกครองจนแทบจะไม่มีแผ่นดินในสมัยนั้นให้ยึดแล้ว แต่ก็ไม่เคยพอ ตลอดทั้งชีวิตของอเล็กซานเดอร์คิดแต่เรื่องทำสงคราม เพื่อจะแผ่ขยายอาณาจักรออกไป ไม่พอสักที นั่นคือตัวอย่างของความไม่พอ

ที่เห็นทุกวันนี้ พวกเศรษฐีกว้านซื้อที่ดินก็เหมือนกัน มีเป็นร้อยๆ พันๆ ไร่ แต่ปรากฏว่ามีที่ดินเล็กๆ อยู่ผืนหนึ่ง อาจจะ 50 วา 60 วา มีบ้านเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง ตั้งขวางอยู่ อยากจะได้บ้านหลังนั้น ไปขอซื้อ เขาไม่ให้ ก็ต้องใช้กลอุบาย ถ้าไม่ได้ ก็ใช้ข่มขู่ พยายามที่จะซื้อผืนดินนั้นให้ได้ เพราะความโลภ ไม่รู้จักพอนั่นเอง


มีตัวอย่างในพระคัมภีร์เกี่ยวกับความโลภชนิดนี้ ใน 1 พงศ์กษัตริย์ 21:1-4 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชาแห่งอิสราเอลที่ชื่อ อาหับ เรื่องเป็นอย่างนี้


1 พงศ์กษัตริย์ 21:1-4

“และอยู่มาภายหลังสิ่งเหล่านี้ นาโบทชาวยิสเรเอลมีสวนองุ่นอยู่ในยิสเรเอล ข้างพระราชวังของอาหับพระราชาแห่งสะมาเรีย อาหับตรัสกับนาโบทว่า "จงให้สวนองุ่นของเจ้าแก่เราเถิด เพื่อเราจะได้ทำสวนผัก เพราะอยู่ใกล้วังของเรา เราจะให้สวนองุ่นที่ดีกว่าเพื่อแลกสวนนี้ หรือถ้าเจ้าเห็นชอบ เราจะให้เงินสมกับราคาสวนนั้น" แต่นาโบททูลอาหับว่า "ขอพระเจ้าทรงห้ามข้าพระบาท ในการที่จะยกมรดกของบรรพบุรุษให้แก่ฝ่าพระบาท" อาหับก็เสด็จเข้าในวังด้วยอารมณ์ขุ่นมัว และกลัดกลุ้มยิ่งนักด้วยเรื่องที่นาโบท ชาวยิสเรเอลทูลตอบพระองค์ เพราะเขาได้กล่าวว่า "ข้าพระบาทจะไม่ให้มรดกแห่งบรรพบุรุษ ของข้าพระบาทแก่ฝ่าพระบาท" และพระองค์ก็เอนพระกายลงบนพระแท่น ทรงเบือนพระพักตร์ไม่เสวยพระกระยาหาร”




เห็นไหมครับ กษัตริย์อาหับมีทรัพย์สมบัติมหาศาล แต่มีความอยากได้ผืนแผ่นดินเล็กๆ อันหนึ่งของชาวบ้าน เพราะความโลภ เพียงเพื่อต้องการเอาไปปลูกผัก แล้วเหตุการณ์ต่อไปก็คือเยเซเบล ซึ่งเป็นมเหสีของอาหับ ก็เริ่มวางแผนใส่ร้ายนาโบท แล้วให้ผู้คนเอาหินขว้างนาโบทจนตาย แล้วก็ให้กษัตริย์อาหับยึดที่ดินนั้น มาเป็นของตน


เรื่องมันมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว ความโลภ กิเลส ตัณหา มันทำให้คนไม่พอ ยิ่งคิดเยอะ ยิ่งอยากได้มาก ยิ่งกล้าทำบาปมากขึ้น หนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเราจะมีฐานะอย่างไร อยู่ในสภาพใดก็ตาม มีความไม่พอเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือความรู้สึกอยากได้ และต่อด้วยการกระทำ และความพยายามที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่เราอยากได้ หรือโลภนั่นเอง ถ้าความพยายามนั้นเป็นการทำงานอย่างหนักมาก หามรุ่งหามค่ำ มันก็อาจจะเกิดผลเป็นร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพแย่ หรือครอบครัวมีปัญหา เพราะว่าไม่มีเวลาให้ครอบครัว คิดแต่เรื่องเงิน เรื่องวัตถุสิ่งของอย่างเดียว หรือถ้าความพยายามนั้นเป็นการไปลงทุนทำมาหากิน ทำอะไรเกินกำลัง กู้หนี้ยืมสินเขามา เยอะแยะมากมาย ก็อาจเกิดปัญหาใหญ่โตในภายหลัง คือเป็นหนี้เป็นสินเขา และหนักที่สุดคือกรณีที่มีกิเลสตัณหา ความอยากได้มากๆ จนกระทั่งควบคุมไม่อยู่ ก็อาจจะไปขโมย ไปโกงเขา ไปเล่นการพนัน หรือไปทำผิดกฎหมายต่างๆ เพราะอยากได้ในสิ่งที่เกินพอดีไป ซึ่งเราเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เยอะแยะมากมายไปหมด แบบนี้คือความไม่พอนั่นแหละทำให้เกิดผลร้ายในชีวิต


ในเรื่อง “พอ” หรือ “ไม่พอ” นี้ไม่มีใครตอบได้ว่ามีเท่าไหร่ควรจะพอ บางคนมีหนึ่งหมื่น บอกว่าพอแล้ว ในขณะที่อีกคนมีสิบล้านก็บอกว่าไม่พอ เห็นไหมครับ มันอยู่ที่ความคิด อยู่ที่การเรียนรู้มากกว่าอยู่ที่ทรัพย์สินและเงินทอง บางคนมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะว่าในจิตใจไม่เคยเรียนรู้ในเรื่องการเพียงพอ มีแต่โลภอย่างเดียว ต่อให้มีมากเท่าไหร่ มีมหาศาลเท่าไหร่ มีเป็นร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนๆ ล้านๆ ก็ไม่พอ เพราะความคิดของเขาไม่พอ


ระบบของโลกทุกวันนี้ มักจะวัดกันที่ใครรวยกว่ากัน วัดกันที่ทรัพย์สินเงินทอง ใครมีมากกว่าก็รวยกว่า เรื่องคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร ไม่สนใจ ความรวยทางทรัพย์สิน ไม่ได้ทำให้ชีวิตเรามีความสุขเสมอไป อันนี้เป็นความจริง เป็นสัจจะธรรม ทั้งๆ ที่รู้ แต่ก็อดไม่ได้
ยกตัวอย่าง มีเรื่องเล่าให้ฟัง


… ชายยากจนคนหนึ่ง มีอาชีพกวาดถนนในสวนสาธารณะ เขาเป็นคนอารมณ์ดี ดูมีความสุขอยู่ตลอดเวลา กวาดไป ผิวปากไป ร้องเพลงไป สบายใจ อยู่มาวันหนึ่งมีเศรษฐีเข้ามาเดินเล่นในสวน แล้วก็ทำกระเป๋าสตางค์ตกหาย ชายกวาดถนนคนนี้มาพบเข้า ก็ติดต่อส่งมอบคืนเจ้าของ แล้วเศรษฐีก็มอบเงินรางวัลให้หนึ่งหมื่นบาท ชายคนนี้ก็ดีใจมาก ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีเงินจำนวนมากขนาดนี้ติดตัวมาเลย


พอกลับบ้านก็มองหามุมที่จะเก็บเงินและเปลี่ยนที่เก็บ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะเดินออกจากบ้านไปที่ไหนก็กังวลว่าเงินจะหาย กลางคืนนอนก็ต้องเอามาเก็บไว้ใต้หมอน แล้วก็ต้องคอยตื่นมาเช็คดูว่าเงินยังอยู่ครบหรือเปล่า จากที่เคยนอนหลับทุกคืน ก็กลายมาเป็นต้องนอนหลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน ตอนเช้าออกไปทำงาน ก็ต้องเอาเงินทั้งหมดติดตัวไปด้วย เพราะกลัวหาย …


คุ้นๆ ไหม คนไหนที่ซื้อรถใหม่ ไม่ได้นอนทั้งคืนเลย ไปทำงานที่ไหน ไปจอดที่ไหน คอยดูว่ารถเป็นอย่างไรบ้าง บางคนใส่เซฟตี้ หมายถึงกันขโมยไว้สิบชั้น เพราะกลัวรถหาย


… ฉะนั้นชายคนนี้ จากที่เคยมีความสุขตลอดเวลา ไปทำงาน ร้องเพลง ผิวปาก ก็กลายเป็นไปทำงานพร้อมกับความกังวลไปด้วย กลัวเงินจะตก กลัวเงินจะถูกขโมย แล้วยังร่างกายอ่อนเพลีย เพราะว่ากลางคืนหลับไม่สนิท พักผ่อนไม่เพียงพอ …
พระเยซูบอกใช่ไหม ทรัพย์ท่านอยู่ที่ไหน ใจท่านก็อยู่ที่นั่น ไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่มีความสุขเหมือนแต่ก่อนนี้เลย คิดดูสภาพเขา กำลังกวาดถนนอยู่ มีความสุข แต่ตอนนี้คิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียวเลย


… เขาเป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ชายกวาดถนนคนนี้เริ่มทนไม่ไหว กลับไปหาเศรษฐีคนนั้น ขอคืนเงินที่ได้มาทั้งหมด เพื่อแลกความสุขของตัวเองกลับคืนมา “เอาเงินคืนไปดีกว่า เอาความสุขของฉันคืนมา ไม่มีประโยชน์เลย” …


เห็นไหม เราฟังอย่างนี้ น่าขำนะ มาดูชีวิตของเราเอง เราก็ขำไม่ออกเหมือนกัน เราพยายามทำงานเยอะแยะมากมาย ชีวิตที่เคยมีความสุข ไม่สุขอีกแล้ว แล้วเงินที่ได้มา เป็นแค่ตัวเลขอยู่ในธนาคาร คอยกังวลอยู่นั่นแหละ ดอกเบี้ยขึ้นหรือดอกเบี้ยลง นานไปค่าเงินราคาจะตกไหม!


ไม่ว่าเราจะมีฐานะอย่างไร อยู่ในสภาพใด เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีความรู้สึกไม่พอ รู้สึกอยากได้ แล้วก็ต่อด้วยความพยายามจะกระทำให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น ความทุกข์ถามหาทันที คนกวาดถนนคนนี้ แทนที่จะกวาดถนนไป มีความสุขไป พอมีเงิน ความสุขเขาหายไปทันที เขาจึงตัดสินใจถูก เอาความพอใจของเขาดีกว่าเอาเงิน ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร เพราะชีวิตเขาก็อยู่อย่างสุขสบายอยู่แล้ว มีเงินเดือนพอใช้อยู่แล้ว


มีคำกล่าวว่าถ้าต้องการจะมองหาคนที่มีแต่ความทุกข์ ให้ไปมองหาในหมู่คนรวย รับรองได้ เจอเยอะ กำลังทำเงินได้เยอะมาก มีความทุกข์ตลอดทั้งวันทั้งคืน เอามือก่ายหน้าผากตลอดเลย คนที่มีเงินทองมากมาย มักจะมีทุกข์ เพราะว่ายิ่งมีเยอะ ยิ่งอยากได้เยอะ เกิดความอยากได้ไม่สิ้นสุด ไม่รู้จักพอ และเมื่อไม่พอ แทนที่จะรวย ก็เลยกลายเป็นจน กลายเป็นทุกข์ใจ



เต้าส่วนกับข้าวเหนียวเปียกดำ

… มีเรื่องเล่าให้ฟัง เรื่องนี้คุณแม่ผมเล่าให้ฟังตั้งแต่สมัยเด็กๆ เคยเห็นไหม สมัยก่อนเขาขาย พวกเต้าส่วนกับข้าวเหนียวดำ ราดกะทิ ต้องขายคู่กัน มี 2 อันเท่านั้นเอง แล้วก็ใส่ในภาชนะที่เป็นทองเหลือง ทุกวันก็ทำเต้าส่วนกับข้าวเหนียวเปียกดำ ทุกเช้าก็หาบออกมา เดินขายตามริมถนนไปเรื่อยๆ ด้วยความสุข พอตกเย็น ล้างภาชนะเสร็จ ก็กลับเข้าบ้าน เอาขลุ่ยมาเป่าเพลง สบายใจ เงินก็ไม่ได้มีเยอะพอกินพอใช้


หน้าบ้านเขาเป็นร้านขายทอง เจ้าของร้านขายทอง ก็เป็นลูกค้าอาแป๊ะ ซื้อของทุกวันเลย เห็นอาแป๊ะคนนี้มีความสุขเหลือเกิน พอคุยกันอาแป๊ะก็บอกว่า “อั๊วขายแค่นี้ ก็สบายแล้ว มีเงินพอกิน พอมีแล้ว” เจ้าของร้านทองก็ได้ยินทุกวัน ตกเย็นอาแป๊ะคนนี้ก็จะเป่าขลุ่ย เจ้าของร้านทองก็มานั่งคิด ตัวเขาไม่มีความสุขเลย ทั้งบ้านมีแต่ทองทั้งนั้นเยอะมาก แต่คิดอยู่นั่นแหละ ทองลด ทองตก ทองมาก ทองน้อย ต้องเก็บเงิน ต้องเก็บทอง ต้องระวังโจรขโมย มันเหนื่อยมากเลย ตกเย็นก็นอนไม่หลับ มาเทียบกับอาแป๊ะคนนี้มีความสุขมากกว่า


วันหนึ่ง อาแป๊ะก็มาขายเหมือนเดิม เขาก็เลยบอกอาแป๊ะคนนี้ว่า “วันนี้เรามาแลกอาชีพกันดีไหม ฉันอยากไปอยู่เหมือนกับเธอ แล้วให้เธอมาอยู่เหมือนกับฉัน มาเป็นเจ้าของร้านทอง มาเป็นเถ้าแก่ดีกว่า ฉันขอไปหาบอันนี้ขายดีกว่า สนุกกว่า” แล้วเขาก็ยอมแลกกัน แลกกันไปได้ไม่กี่วันเท่านั้นเอง อาแป๊ะที่ขายเต้าส่วนก็กลับไปบอกเจ้าของร้านทองว่า “ไม่เอาแล้ว” เพราะแต่ก่อนนี้ หาบออกมาตอนเช้า ตอนบ่ายๆ ก็กลับบ้านแล้วได้เป่าขลุ่ยแล้ว แต่นี่ทั้งวันทั้งคืนนั่งคิดแต่เรื่องทอง ไม่มีความสุขเลย ขอไปขายเต้าส่วนเหมือนเดิมดีกว่า … ลองคิดดูนะครับ


ในปัญญาจารย์ 5:10 ได้บอกไว้อย่างนี้ว่า

“คนรักเงินย่อมไม่อิ่มเงิน และคนรักสมบัติไม่รู้จักอิ่มกำไร นี่ก็อนิจจังด้วย”


ปัญญาจารย์ 5:12

“การหลับของกรรมกรก็ผาสุก ไม่ว่าเขาจะได้กินน้อยหรือได้กินมาก แต่ความอิ่มท้องของคนมั่งมีก็ไม่ช่วยเขาให้หลับ”


อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่นี้ จริงๆ แล้วคนที่มีเงินทองมากมาย แล้วรู้จักพอก็มี ไม่ใช่ไม่มี คนที่มีสมบัติเยอะ ก็มีความเสี่ยงเยอะ ความเสี่ยงที่จะเกิดกิเลส เกิดความโลภ เกิดความอยากได้ ที่ไม่รู้จักพอ ถามว่าคนที่รู้จักพอมีไหม มี ในทางพระเจ้าแน่นอนเราไม่ได้วัดกันที่ทรัพย์สินเงินทอง แต่วัดกันที่ความพอ ใครมีเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ถ้ารู้จักพอปุ๊บ เป็นคนรวยทันทีเลย แล้วรวยแบบไม่มีความทุกข์ด้วย รวยแบบสบายใจ ต่อให้เป็นชาวนา ทำนา ปลูกผัก ไม่มีเงิน แต่ถ้าในใจ ความคิดของเขาคิดว่า “ฉันมีข้าว มีอาหารการกินอย่างดี” แค่นี้ก็สุขสบายแล้ว พอแล้ว แค่นี้ก็เป็นคนรวยแล้ว


แต่คำถามคือแล้วความพอในใจเราจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

สุภาษิตโบราณจึงว่าไว้ว่า “ความพอใจ ทำให้คนยากจนเป็นคนมั่งมี และความไม่พอ ทำให้คนมั่งมีกลายเป็นคนยากจน” เราจึงเห็นว่าเมื่อความพอเกิดขึ้นในใจของเราเมื่อไหร่ เราก็เป็นคนรวยทันทีเลย มีความสุขทันทีเลย แต่คำถามคือแล้วความพอในใจเราจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ยาก ความหมายคือมันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีขั้นตอนการเรียนรู้ การฝึกฝนให้เกิดความรู้จักพอ


ฟีลิปปี 4:11

“ข้าพเจ้าไม่ได้บ่นถึงเรื่องความขัดสน เพราะข้าพเจ้าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น”


เปาโลบอกว่าได้เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น ขนาดอัครทูตเปาโลผู้ยิ่งใหญ่ยังใช้คำพูดว่า “ข้าพเจ้าได้เรียนรู้แล้วที่จะพอใจ” คือได้มีการเรียนรู้ก่อน ถึงจะรู้จักพอ เปาโลเรียนรู้จากไหน ก็จากประสบการณ์ชีวิตของเปาโลนั่นเอง ที่ได้ผ่านอะไรเยอะมาก ทั้งความร่ำรวย ความยากจน ความรุ่งเรือง ความตกต่ำ ความสุขสบาย ความทุกข์ทรมาน เรียกได้ว่าผ่านทุกรูปแบบแล้วก็ได้ กว่าที่จะถึงวันที่พูดได้ว่า ได้เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น


ในชีวิตคนเรา ถ้าเรามีครบทุกอย่าง มีชีวิตที่สุขสบาย ฐานะการเงินดี การงานมั่นคงแข็งแรง สุขภาพดี ครอบครัวดี แล้วเราก็บอกว่าเรามีครบทุกอย่างแล้ว ชีวิตนี้พอใจแล้ว จะเริ่มใช้ชีวิตแบบพอเพียงแล้ว แบบนี้คงทำได้ไม่ยากนัก ยังนับว่าเป็นสิ่งที่ดี คือมีแล้ว ก็ยังพอใจในสิ่งที่มี ไม่ต้องการโลภอยากได้เพิ่มเติม อย่างนี้รู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่พระเจ้าทำให้สามารถพอได้ ทำได้ง่ายหน่อย เพราะมีทุกอย่างครบ พร้อมแล้ว ไม่ลำบาก แต่ความพอใจในลักษณะนี้ ยังไม่ต้องเรียนรู้มาก ไม่ต้องฝึกฝนมาก เป็นพระคุณ เป็นของประทานซึ่งมาจากพระเจ้า เรียนรู้บ้างเล็กน้อยเท่านั้นเอง แล้วก็เชื่อฟัง เหมือนวันนี้ ถ้าเราเรียนรู้แล้วเชื่อฟัง เราอาจไม่ต้องทุกข์ยากลำบากมากนัก


ความพอใจที่เปาโลกล่าวถึง คือความพอใจที่มีอยู่ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใด ไม่ว่าอยู่ในฐานะใดก็ตาม เปาโลก็รู้จักพอ


ในฟีลิปปี 4:12

“ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ความสมบูรณ์พูนสุข และความขัดสน”

เปาโลบอกว่ารู้จักที่จะเผชิญ ก็คือรู้จักพอใจนั่นเอง มีชื่อเสียงก็พอใจ ตกต่ำก็พอใจ มีเงินทองก็พอใจ ยากจนไม่มีเงินทองก็พอใจ มีข้าวกิน ท้องอิ่มก็พอใจ อดอยากไม่มีข้าวกินก็พอใจ


ข้อความตรงนี้สำคัญ เพราะบางคนจะไปตีความเองว่าเป็นคริสเตียนรู้จักพอ จะไปทำธุรกิจหาเงินหากำไรไม่ได้ จะมั่งมีแบบทางโลกไม่ได้ เหมือนที่มีความพยายามจะตีความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แบบผิดๆ ตีความกันแบบสุดโต่งว่าเราต้องปลูกผักกินเอง ต้องหยุดพัฒนา ต้องเลิกใช้เทคโนโลยี ซึ่งความหมายแท้จริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้น


ตรงนี้ต้องตั้งใจฟังด้วยนะครับ ในพระคัมภีร์บอก พระเจ้าสามารถให้เรามีความสุข อยู่กับทรัพย์สินเงินทอง เป็นคนมั่งคั่งได้ แต่ต้องเป็นคนมั่งคั่งแบบพอ แบบไม่โลภ แบบพระเจ้า แบบใจกว้าง


คริสเตียนที่เป็นนักธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จมั่งมีในทางโลก แต่ยังดำเนินชีวิตในทางพระเจ้า รู้จักพอ รู้จักแจกจ่ายก็มี พระเจ้าอาจเรียกให้ใครมารับใช้พระเจ้าในลักษณะนี้ ก็ได้ และมีอยู่ไม่ใช่น้อย แต่อย่างที่บอกว่าคนๆ นั้นก็ต้องถูกพระเจ้าสั่งสอนหรือเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว เพราะว่าการร่ำรวยนั้น การมีเงินทองมากๆ นั้นมันเป็นอันตรายต่อชีวิตของคนๆ นั้น เมื่อพระเจ้าเตรียมเขา เขาก็สามารถรับใช้พระเจ้าได้ โดยการเป็นคนที่มีเงินมีทอง ในทางคริสเตียน


ในข้อนี้เปาโลบอกว่ารู้จักพอใจ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม เพราะเปาโลผ่านมาแล้วทั้งหมด รู้จักเคล็ดลับแล้วที่จะให้เกิดความพอใจในทุกสถานการณ์ และเปาโลก็กำลังบอกเคล็ดลับให้เราดูเป็นตัวอย่างและทำตาม


ฟีลิปปี 4:8-9

“ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ในที่สุดนี้ขอจงใคร่ครวญถึงสิ่งที่จริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ทรงคุณ คือถ้ามีสิ่งใดที่ล้ำเลิศ สิ่งใดที่ควรแก่การสรรเสริญ ก็ขอจงใคร่ครวญดู จงกระทำทุกสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และได้รับไว้ ได้ยินและได้เห็นในข้าพเจ้าแล้ว และพระเจ้าแห่งสันติสุขจะทรงสถิตกับท่าน”


เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ของเราง่ายกว่าเยอะมาก คือมีเคล็ดลับจากผู้มีประสบการณ์มาแล้วจากพระคัมภีร์


… เคล็ดลับในการรู้จักพอ …


1. เราต้องเชื่อมั่นว่าพระเจ้าผู้ทรงเลี้ยงดูเรานั้น เป็นผู้จัดเตรียมจัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเรา เราจะไม่ขัดสน


พระเจ้าเป็นพระเยโฮวาห์ยีเรห์ เป็นพระเจ้าผู้ทรงเลี้ยงดู ผู้จัดเตรียมจัดหาทุกสิ่งให้กับเรา ที่เราจำเป็นต้องใช้สอย จากคลังทรัพย์อันมั่งคั่งของพระองค์ในพระเยซูคริสต์ พระเยซูบอกว่าอย่ากังวลว่าจะเอาอะไรกิน จะเอาอะไรดื่ม จะเอาอะไรนุ่งห่ม ดูดอกไม้ในทุ่งนา นกในอากาศมันไม่ได้ทำงานเลย แต่พระเจ้าก็เลี้ยงดูมันเป็นอย่างดี แล้วท่านมีชีวิตอยู่เป็นลูกพระเจ้า มีค่ามากกว่านั้นสักเท่าใด พระองค์จะไม่เลี้ยงดูท่านมากกว่าทั้งนก ทั้งดอกไม้เหล่านั้นหรือ! พระเยซูตรัสไว้


การเชื่อมั่นว่าพระเจ้าเป็นผู้เลี้ยงดูเรา ก็คือพระเจ้าเรียกเรามาให้รับใช้อย่างไร ให้ทำอะไร เราก็ทำทุกอย่างตามหน้าที่ที่ถูกเรียกมา และวางใจว่าพระองค์ทรงควบคุมดูแลชีวิตเรา ผลจะเป็นอย่างไร สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก็อยู่ในการควบคุมดูแลของพระเจ้าทั้งสิ้น เมื่อเราต้องการดูแลทุกอย่าง ควบคุมทุกอย่างด้วยตัวของเราเอง ความไม่พอก็จะเกิดขึ้น เราก็คอยกังวลว่าอนาคตของเราอาจจะไม่พอกิน ถ้าคิดห่วงกังวลแบบนี้ ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ความพอก็ไม่เกิด เพราะอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะอยู่อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ ไม่รู้อีก ก็กลายเป็นความคิดว่ามียิ่งเยอะ ยิ่งดี ยิ่งเยอะยิ่งปลอดภัย คุ้นๆ ไหมครับ


เพราะเราต้องการควบคุมเอง เราไม่วางใจพระเจ้าว่าพระเจ้าจะจัดเตรียมจัดหาให้ ยิ่งบางคนห่วงไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็ไปกันใหญ่เลยทีนี้ ห่วงตลอด ความพอยิ่งห่างไกลไปทุกที เพราะไม่ได้วางใจในพระเจ้าว่าพระเจ้าเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ถ้าเราเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงควบคุมทุกสิ่ง และทรงดูแลชีวิตเราได้ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต จนถึงแม้กระทั่งเราจากโลกนี้ไปอยู่กับพระองค์บนสวรรค์ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่ดิ้นรนแบบไม่มีวันจบสิ้น ที่สำคัญเรารู้ว่าแม้จะอยากได้แค่ไหน ต้องการแค่ไหน ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่น้ำพระทัยพระเจ้า เราพยายามไป ดิ้นรนไป ก็เหนื่อยเปล่าๆ ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ ก็จะเกิดความรู้สึกพอในใจ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใดก็ตาม เพราะเราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยง เป็นผู้จัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเรา


มัทธิว 6:27

“มีใครในพวกท่านโดยความกระวนกระวาย อาจต่อชีวิตให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ”


ในทำนองเดียวกัน โดยความกระวนกระวายช่วยไม่ได้เลย ฉะนั้นเราจะกังวลไปทำไม พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ตอนนี้ดีกว่า แล้วก็เชื่อในพระเจ้าว่าพระองค์ทรงเป็นผู้จัดเตรียมจัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเรา


ฟีลิปปี 4:10

“ข้าพเจ้ามีใจชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างยิ่ง เพราะว่าในที่สุดท่านก็ได้ฟื้นการระลึกถึงข้าพเจ้าอีก ท่านคิดถึงข้าพเจ้าจริงๆ แต่ยังหาโอกาสไม่ได้”


เปาโลเขียนถึงชาวฟีลิปปีในบทนี้ เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นับจากครั้งสุดท้ายที่เปาโลได้รับการช่วยเหลือจากชาวเมืองนี้ แม้จะขัดสน แม้จะลำบากขนาดไหน ก็ไม่เคยขอร้อง เฝ้าอดทนรอด้วยความหวัง เพราะรู้ว่าถ้าเมื่อไรเป็นเวลาที่เหมาะสม ถึงเวลาที่จำเป็น พระเจ้าก็จะทรงจัดการให้เอง เชื่อในพระเจ้า วางใจในพระองค์


ข้อนี้บอกอีกว่า “ท่านคิดถึงข้าพเจ้าจริงๆ แต่ยังหาโอกาสไม่ได้” โอกาสมาจากไหน ก็มาจากพระเจ้า อดทนรอคอยเวลาของพระเจ้า และในที่สุด พระเจ้าก็ให้โอกาสมาถึง ได้ชื่นชมยินดี และขอบคุณพระเจ้า


ฟีลิปปี 4:19

“และพระเจ้าของข้าพเจ้า จะประทานสิ่งสารพัดที่พวกท่านขาดอยู่นั้น จากทรัพย์อันรุ่งเรืองของพระองค์ในพระเยซูคริสต์”


ให้เราเชื่อมั่นในแผนการจัดเตรียมจัดหาของพระเจ้า เชื่อมั่นในพระสัญญาของพระเจ้าที่จะประทานสิ่งสารพัดให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นวันนี้ วันพรุ่งนี้ หรือวันข้างหน้าสืบๆ ไป และเมื่อเราเชื่อได้อย่างนี้แล้ว ก็มาถึงเคล็ดลับข้อที่ 2


2. พอใจในสิ่งที่มีอยู่และไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น

ความพอใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ต่อให้เรามีมากขนาดไหนก็ตาม ถ้าเรามัววแต่เปรียบเทียบกับคนโน้นคนนี้ ก็จะไปเจอคนที่มีมากกว่าเราแน่นอน แล้วเราก็จะเกิดความหงุดหงิด กังวล ไม่พอใจอีกแล้ว


ใน 2 โครินธ์ 10:12

“เราไม่ต้องการที่จะเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนบางคนที่ยกย่องตัวเอง แต่เมื่อเขาเอาตัวของเขาเป็นเครื่องวัดกันและกัน และเอาตัวเปรียบเทียบกันและกันแล้ว เขาก็เป็นคนขาดความเข้าใจ”


พระคัมภีร์สอนให้เราไม่เอาตัวไปเปรียบเทียบกับใคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน ครอบครัว การเรียน ให้พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ พอใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ เหมือนที่เปาโลบอกว่า “จะมีฐานะอย่างไรก็ตาม จะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ก็พอใจอยู่อย่างนั้น” ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนโน้นเขาเป็นอย่างโน้น คนนี้เขาเป็นนักธุรกิจใหญ่ เราต้องเอาตามเขาอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เกิดความไม่พอ


… มีเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง

มีชาวประมงคนหนึ่ง ตอนสายๆ ของวัน เขาก็นอนเล่นอยู่ที่บ้านของเขา ที่ริมชายหาด ปรากฏว่ามีนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งมาพักผ่อน เดินมาพบชายประมงคนนี้ ก็เลยคุยกับชาวประมงคนนี้ว่า “ทำไมไม่ออกไปจับปลาล่ะ” ชาวประมงคนนี้ก็บอกว่า “ไปตั้งแต่เช้ามืดแล้ว จับปลามา ขายไปเรียบร้อยแล้ว ทำแค่นี้ก็สบายแล้ว มีพอกินพออยู่” แล้วนักธุรกิจ ก็บอกว่า “น่าจะออกไปจับอีกนะ และทำเรือให้ใหญ่กว่านี้ ออกไปจับรอบบ่ายด้วย จะได้มีเงินมากกว่านี้ มีปลามากกว่านี้ ไปขายได้มากกว่านี้” ชายชาวประมงก็ถามว่า “ถ้ามีเงินมากขึ้น แล้วต่อจากนี้ไป จะทำอะไรต่อไป” “อ้าว! ถ้ามีเงินมากขึ้น เราก็เข้าตลาดหลักทรัพย์เลย พอเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราก็มีหุ้น ให้หุ้นเจริญเติบโต ได้หุ้นเยอะขึ้น” ชายคนนี้ถามว่า “ถ้าหุ้นเยอะขึ้น แล้วจะทำอย่างไร” “เราก็ขายหุ้นให้หมด เอาเงินเก็บไว้ รวยเลย” ชายคนนั้นถามว่า “แล้วทำอย่างไรต่อไป” “เราก็ไม่ทำอะไรต่อ ต่อไปนี้เราก็ไปนอนพักชายหาด สบายๆ” แล้วชายประมงคนนี้ถามว่า “แล้วตอนนี้ผมทำอะไรอยู่ครับ ผมก็พักอยู่นี่แล้วไง แล้วทำไมต้องให้ผมไปเริ่มต้นใหม่ วุ่นวายเหนื่อยเยอะแยะ เพื่อที่จะกลับมาพักที่ชายหาดเหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็พักที่ชายหาดอยู่แล้ว มีพอกินอยู่แล้ว คนเราก็มีอยู่ท้องเดียว กินอยู่แค่นี้” ….


นี่คิดเป็นเรื่องตลก แต่จริงๆ ทั้งโลกมันหมุนไปแบบนี้ เราต้องระมัดระวังอย่าพัวพันติดไปกับกระแสของโลกใบนี้ ซึ่งมันยากที่จะฝืนกระแสของโลกนี้ แต่ไม่ยากเพราะเราเป็นคริสเตียน เรามีพระเจ้าอยู่ เราสามารถอธิษฐานขอจากพระองค์ ให้เรามีกำลังที่จะสู้ได้ ทำได้


ฮีบรู 13:5

“ท่านจงอย่าเป็นคนเห็นแก่เงิน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสว่าเราจะไม่ละท่าน หรือทอดทิ้งท่านเลย”


พูดให้ตัวเองฟัง จนกระทั่งเราจากโลกนี้ไปอยู่กับพระเจ้า “อย่าเห็นแก่เงินๆ” พอลืมตาขึ้นมา เงินมาแล้ว เพราะในโทรทัศน์เอย ในสื่อต่างๆ เอย เรียกร้องให้เราเป็นอย่างนั้นทั้งหมด ดังนั้นเราต้องพยายามฝืน


1 ทิโมธี 6:7-8 ก็บอกไว้อย่างนี้ว่า

“เพราะว่าเราไม่ได้เอาอะไรเข้ามาในโลกฉันใด เราก็เอาอะไรออกไปจากโลกไม่ได้ฉันนั้น แต่ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจด้วยของเหล่านั้นเถิด”


“แต่ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจด้วยของเหล่านั้นเถิด” อาหารและเสื้อผ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของเรา และพระคัมภีร์บอกว่าสิ่งใดที่จำเป็นสำหรับชีวิตของเรา พระเจ้าทรงรู้ พระองค์จะประทานให้เราอย่างพอเพียง จนเราไม่ขัดสนสิ่งใดเลย


2 โครินธ์ 9:8

“และพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจประทานของดีทุกสิ่ง อย่างอุดมแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้ท่านมีทุกสิ่งทุกอย่างเพียงพอสำหรับตัวเสมอ ทั้งจะมีสิ่งของบริบูรณ์สำหรับงานที่ดีทุกอย่างด้วย”




“มีทุกสิ่งทุกอย่างเพียงพอ” ก็คือพระองค์ทรงประทานทุกสิ่งที่เราจำเป็น และความจำเป็นของแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน พระเจ้าทรงรู้ แต่ละคนจำเป็นอย่างไร พระองค์ก็ให้ตามความจำเป็น ตามสถานะอย่างนั้น โกหกพระเจ้าไม่ได้ พระเจ้ารู้หมด


ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าแค่ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่มีสิ่งอื่นอีกมากมายที่เราจำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น สติปัญญา สุขภาพ เพื่อนฝูง การงาน เป็นต้น ใครจำเป็นต้องใช้อะไรแค่ไหนพระเจ้ารู้ และจะทรงจัดเตรียมไว้ให้
สรุปง่ายๆ ก็คือสิ่งไหนที่เราจำเป็น พระเจ้าจะประทานให้อย่างครบถ้วน แล้วสิ่งไหนที่เราไม่มี ก็แปลว่าสิ่งนั้นไม่จำเป็นสำหรับเรา พระเจ้าให้แค่ไหน ก็จงพอใจอยู่อย่างนั้น จงอย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น ตามที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดชีวิตให้เราเป็นอย่างไร ก็ให้เป็นตามนั้น พระเจ้ากำหนดชีวิตให้คนอื่นเขาเป็นอย่างไร เขาก็เป็นไปตามนั้น ถ้าเราไปเปรียบเทียบเราก็จะไม่อยู่สุข และจะไม่มีความสุขในชีวิตเลย


ปัญญาจารย์ 5:19

“อนึ่ง ทุกๆ คนที่พระเจ้าประทานทรัพย์สมบัติให้ ก็ได้ทรงโปรดให้รับประทานของเหล่านั้น ได้รับส่วนของตน และยินดีปรีดาในการงานของตนได้ นี่แหละเป็นของประทานจากพระเจ้า”


แต่ระบบในโลกนี้ พยายามที่จะให้เราแยกไม่ออกระหว่างความจำเป็น กับความต้องการ แต่ไหนแต่ไรมาเราเรียนรู้ว่า สิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของเรานั้น คือปัจจัยสี่ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย แต่ทุกวันนี้มีทั้งปัจจัยห้า ปัจจัยหก ปัจจัยเจ็ด ปัจจัยแปด ที่อยู่อาศัย ต้องมีทีวี ตู้เย็น รถ มีโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจำเป็นทั้งนั้น (สำหรับเรา) แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ความจำเป็นจริงๆ มีแค่ 4 อย่างตามที่บอกไว้ เพราะโลกนี้ทำให้ทุกอย่างบิดเบี้ยวไป พยายามพาเราไปสู่ความไม่พอ ความต้องการ คือความโลภนั่นเอง


เมื่อวางใจในพระเจ้าว่าพระเจ้าทรงจัดเตรียม ทุกสิ่งทุกอย่าง ให้กับเรา และพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ โดยไม่เปรียบเทียบกับใครแล้ว เคล็ดลับต่อไปเปาโลให้เราเรียนรู้ ที่จะเกิดความเพียงพอขึ้นภายในจิตใจของเรา ก็คือเรียนรู้ที่จะปรับตัว


3. การเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่เหนือทุกสถานการณ์ ไม่ยึดติดกับสถานการณ์

เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่ในสถานการณ์ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้กับเรา และถ้ามีสถานการณ์อะไรต่างๆ ที่เข้ามาล่อลวงเรา เราจะอยู่เหนือสถานการณ์นั้น ไม่ยึดติดกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เราเป็นในแต่ละช่วงของชีวิต เหมือนที่เปาโลบอกว่ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ ความอิ่มท้อง ความอดอยาก ความมั่งมี ความขัดสน ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็สามารถเผชิญได้


ดังนั้นชีวิตทุกวันก็มีขึ้นมีลง ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม จะเป็นฐานะการงาน ครอบครัว สุขภาพ การเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เหมือนคำพูดที่คุ้นๆ กันว่าความแน่นอน ก็คือความไม่แน่นอน ความแน่นอนก็คือความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ดังนั้นชีวิตมันต้องเปลี่ยนแปลงไป เราไม่รู้ว่าวันนี้เรามีแค่นี้ พรุ่งนี้เราอาจจะมีน้อยกว่านี้ วันนี้เราอาจจะดูแข็งแรงดี แต่พรุ่งนี้ หรือปีหน้าเราอาจจะสุขภาพไม่ดี


เพราะฉะนั้น เราควรจะเรียนรู้จักเดินตามสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไป แล้วก็รู้จักพอเพียง รู้จักอดทนที่จะอยู่กับสถานการณ์เหล่านั้น ถ้าเรายึดติดกับสถานการณ์ เราก็จะเป็นทุกข์เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แล้วความทุกข์ก็จะนำไปสู่การไม่พอใจในสถานะที่เป็นอยู่นั้น


เช่น เคยมีเงินทองมากมาย บริวารล้อมรอบหน้าหลัง ไม่เคยต้องทำอะไรเองเลย เมื่อถึงคราวที่พระเจ้าอาจต้องการสอนเรา พระเจ้าอาจให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อให้เรารู้จักอดทน ให้เรารู้จักเผชิญความลำบากบ้าง แต่ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ ปล่อยให้สถานการณ์ควบคุมความคิดของเรา เราก็เป็นทุกข์เหมือนพูดกันว่า “จมไม่ลง” นั่นเอง


มันก็จะเกิดความคิดว่าจมไม่ลง แล้วเกิดความทุกข์ใจ ไม่สุขใจ ชีวิตของเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ในการมีชีวิตอยู่เหนือสถานการณ์ ไม่ยอมให้เหตุการณ์ใดๆ ควบคุมเหนือความคิดและอารมณ์ของเขา (ของอาจารย์เปาโล)


ชีวิตของเปาโลผ่านความลำบากมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งความอดอยาก ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ถูกขังคุก เรือแตก ถูกทอดทิ้ง สุดๆ ทั้งนั้น แต่เปาโลก็บอกว่าเผชิญได้ทั้งนั้น รับได้ทั้งหมด และพอใจในทุกอย่าง ตามที่เราได้อ่านพระคัมภีร์มา


แต่เคล็ดลับทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เปาโลบอกว่าที่ท่านทำได้ ที่สามารถพอใจในทุกสภาพได้ ไม่ใช่เพราะตัวท่านเองหรอก แต่เป็นเพราะเคล็ดลับข้อ 4 ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเคล็ดลับทั้งหมด นั่นก็คือ.-


4. เชื่อมั่นในฤทธิ์เดชอำนาจของพระเจ้า ที่จะทรงนำพาเราผ่านในทุกๆ สถานการณ์ได้


ฟีลิปปี 4:13 “ข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า”


หมายถึง “โดยพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้ามีความพอใจในทุกสิ่งได้นั่นเอง”



...ผ่านทางพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเสริมกำลังให้กับข้าพเจ้า

เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นว่าความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งตรงกันข้ามกับความโลภของโลกใบนี้ ทำยากมากเลย แต่พอมาเป็นคริสเตียน พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา มันก็ไม่ยากเกินไป มันง่ายมากเลย พระองค์จะทรงช่วยเรา “ข้าพเจ้าสามารถผจญทุกสิ่งได้ ผ่านทางพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเสริมกำลังให้กับข้าพเจ้า ผู้ทรงเป็นกำลังให้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสามารถมีความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ได้ ผ่านทางพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเสริมกำลังให้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสามารถที่จะไม่โลภได้ โดยพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเสริมกำลังให้กับข้าพเจ้า” เห็นไหมครับ เรามีผู้ช่วยอยู่ตลอดเวลา คอยดูแลเราตลอดเวลา คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสถิตอยู่กับเรา พอมาถึงตรงนี้ปุ๊บ เริ่มง่ายแล้ว เพราะเราไม่ต้องพึ่งตัวเองเลย โดยพระเยซูคริสต์เราพร้อมแล้วสำหรับทุกสิ่ง พระคุณพระองค์เพียงพอแล้วที่จะนำพาชีวิตของเรา
เหมือนที่เปาโลมีหนามในเนื้อ และพยายามอธิษฐานขอพระเจ้า ให้เอาหนามในเนื้อออก แต่พระเจ้าก็ตอบว่า “พระคุณของเราก็เพียงพอแล้ว ที่จะให้เปาโลสามารถเผชิญกับทุกสิ่งได้ ทั้งที่มีหนามอยู่ในนั้น แล้วเปาโลก็พอใจที่จะให้มีหนามนั้นต่อไป เห็นไหมครับ เปาโลบอกมีหนามในเนื้อ “ข้าพเจ้าทูลขอพระเจ้า 3 ครั้ง แต่พระเจ้าก็บอกว่า ‘พระคุณเราก็เพียงพอ’”


“พระคุณ” ก็คือความสามารถของพระเจ้า ฤทธิ์เดชอำนาจของพระเจ้าก็เพียงพอ สำหรับเปาโลแล้ว การที่จะอยู่อย่างมีหนาม ในความทุกข์ยากลำบาก เปาโลก็สามารถที่จะพอใจได้ โดยพระคุณของพระเจ้านั่นเอง


ชีวิตเราก็เหมือนกัน แม้ว่าจะอยากได้อะไร แค่ไหน อยากเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสถานะตัวเองอย่างไร ถ้าไม่ใช่น้ำพระทัยพระเจ้า สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดีที่สุดคือวางใจในพระเจ้า พอใจในทุกสิ่งที่พระเจ้าให้ และขอบคุณพระเจ้าในทุกกรณี


เพราะฉะนั้นพอใจในขณะนี้เลย ที่พระเจ้าทรงกระทำให้เราเป็น เราก็จะเริ่มมีความสุข เริ่มมีสันติสุขขึ้นในจิตใจ และสามารถวางใจพระเจ้าในเรื่องต่างๆ ได้


สรุปก็คือเรื่องการทรงนำของพระเจ้า ผ่านความทุกข์ลำบากที่ว่าบางครั้งพระเจ้าก็ทำให้พายุสงบ บางครั้งพระเจ้าก็ทำให้เราสงบ เพื่อเผชิญกับพายุ

แต่ไม่ว่าจะเป็นทางใด เราก็สามารถผ่านได้ ในเรื่องของความพอใจนี้ เวลาที่เราอยากได้อะไร หรืออธิษฐานขออะไร บางครั้งพระเจ้าก็อาจประทานในสิ่งที่เราขอ แต่บางครั้ง พระเจ้าก็ใช้วิธีลดกิเลสความอยากได้ในตัวเราลง และเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นในทางไหน เราก็จะเกิดความพอใจได้โดยพระคุณพระเจ้า อธิษฐานขอกำลังจากพระเจ้า ให้สิ่งเดียวเท่านั้นที่เราต้องการ และอยากได้มากที่สุด มากขึ้นทุกวันๆ ก็คือพระองค์นั่นเอง


นี่คือน้ำพระทัยพระเจ้าในชีวิตของคริสเตียนทุกๆ คน เมื่อมาหาพระเจ้าแล้ว สิ่งที่อยากได้เหลืออยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ องค์พระเยซูคริสต์ผู้ช่วยให้รอดของเรา

ไม่ใช่วัตถุสิ่งของต่างๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่อะไรบนโลกใบนี้ทั้งนั้น เพราะนอกนั้นพระองค์ทรงกระทำให้เราหมดทุกอย่างแล้ว และพระองค์ก็อยากให้เรามีความสนิทสนมกับพระองค์มากขึ้น รู้จักพระองค์มากขึ้น แสวงหาน้ำพระทัยของพระองค์มากขึ้น แสวงหาพระพักตร์ของพระองค์มากขึ้น นี่คือสิ่งเดียวที่พระองค์ต้องการในชีวิตของเรา เอเมน

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คริสตจักร (คริสเตียน)


....คริสตจักร ได้กำเนิด ทิศทางของการทำพันธกิจคริสตจักร ด้วยนโยบาย 10 ประการ ซึ่งเป็นนโยบายที่วางอยู่บนรากฐาน แห่งคำสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์ เพื่อตอบสนองแห่งพระมหาบัญชา ของพระเยซูที่ว่า ..
“ จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า ด้วยสุดจิตสุดใจของเจ้า และสิ้นสุดความคิดของเจ้า จงรักเพื่อนบ้านเหมือน รักตนเอง ” มัทธิว 22 : 37-39
“ เหตุฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงออกไป สั่งสอน ชนทุกชาติให้เป็นสาวกให้เรา ให้รับบัพติสมา ในพระนามแห่ง พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษา สิ่งสารพัด ซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ ” มัทธิว 28 : 19 - 20


1 ร่วมประสานสัมพันธ์ “ พวกเราผู้เป็นหลายคน ยังเป็นคนเดียวในพระคริสต์ และเป็นอวัยวะแก่กันและกันฉันนั้น ” รม. 12 : 5
2 มุ่งมั่นศึกษาพระคัมภีร์ “ มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้ แต่บำรุงด้วย พระวจนะทุกคำ ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของ พระเจ้า ” มธ. 4 : 4
3 สดุดีนมัสการเป็นชีวิต “ เราทั้งหลาย.....ได้รับกำหนดและรับการแต่งตั้งให้เป็นที่ถวายสรรเสริญแด่พระสิริของพระองค์ ” อฟ.1 : 12
4 อุทิศถวายอย่างสัตย์ชื่อ “ พระเจ้าจอมโยธา ตรัสว่า จงนำทศางค์เต็มขนาดมาไว้ในคลัง ” มลค. 3 : 10
5 ถือการอธิษฐานเป็นหัวใจ “ จงขะมักเขม้นอธิษฐาน ” รม. 12 : 12
6 ออกไปประกาศข่าวประเสริฐ “ ให้ประกาศพระวจนะ ให้ขะมักเขม้นที่จะทำการ ” 2 ธม. 4 : 2
7 มุ่งเลิศเสริมสร้างคริสตจักร “ เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น ” อฟ. 4 : 12
8 เสริมรักผูกพันในครอบครัว “ สามีก็จงรักภรรยาของตน เหมือนอย่างที่พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร ” อฟ.5 : 25
9 มอบตัวเพื่อพันธกิจมิชชั่น “ เหตุฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ” มธ.28 : 19
10 ชีวิตนั้นสร้างสรรค์ ศิษยาภิบาล “ ส่วนผู้ที่รับคำสอน จงแบ่งสิ่งที่ดีทุกอย่างให้แก่ผู้ที่สอนตนเถิด ”

1. ร่วมประสานสัมพันธ์
การร่วมประสานสัมพันธ์ เป็นลักษณะธรรมชาติแห่งชีวิตคริสตจักร
1 เป็นราชกิจของพระเจ้า
1.1.พระเจ้าทรงกระทำโดยทางพระเยซูคริสต์ อฟ.2 : 14-22
1.2.พระวิญญาณบริสุทธ์ทรงประทานให้คริสตจักร อฟ.4 : 3

2 เป็นความห่วงใยของพระเยซูคริสต
2.1.พระเยซูใช้เวลาทั้งคืออธิษฐานเพื่อเรื่องนี้ ยน17 : 11,20 : 23
2.2.พระเยซูทรงตรัสเตือนสอนอยู่เสมอ ยน. 13 : 34-35,15-12

3 เป็นความล้ำลึกของชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของคริสเตียน
3.1.หลายคนยังเป็นกายเดียว รม. 12 : 5
3.2.ท่านทั้งหลายเป็นกายของพระคริสต์ 1 คธ. 12 : 27
3.2.เราต่างก็เป็นอวัยวะของกันและกัน อฟ. 4 : 25

4 เป็นความรับผิดชอบของคริสเตียนทุกคน
4.1.ที่ต้องเพียรพยายามให้คงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อฟ.4.3
4.2.ที่ต้องเสริมสร้างให้มีความจำเริญขึ้น ถึงความไพบูลย์ของพระเยซูคริสต์ อฟ. 4 : 12-13

5 เป็นกฎแห่งการรับการอวยพรจากพระเจ้า
คือ ชีวิตจำเริญเป็นนิตย์ สดด. 113
6 แนวปฎิบัติเพื่อการร่วมประสานสัมพันธ์
6.1.ร่วมใจร่วมประชุมอธิษฐานอย่างขะมักเขม้น กจ.1 : 14
6.2.ร่วมสามัคคีธรรม กจ.2 : 42
6.3.ร่วมใจกันนมัสการพระเจ้าที่โบสถ์ กจ.2 : 46
6.4ร่วมใจกันนมัสการในกลุ่มเซล กจ.2 : 46
6.5.ร่วมรับใช้พระเจ้า เสริมสร้างคริสตจักร อฟ.4 : 12,16



2. มุ่งมั่นศึกษาพระคัมภีร์

คริสตจักร(คริสเตียน) เป็นพระกายของพระเยซูคริสต์ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยพระวจนะ
1 พระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้าเพื่อบำรุงเลี้ยงชีวิต
- เป็นอาหารบำรุงชีวิต มธ.4 : 4
- มีฤทธิ์เสริมสร้างชีวิต กจ.20 : 32
- สอนชีวิตให้ถึงความรอด 2 ธม.3 : 15
- นำชีวิตจำเริญ 1 ปต.2 : 2
- เตรียมชีวิตให้พร้อมในการทำดี 2 ธม.3 : 16-17

2 ศึกษา : กระบวนการเรียนรู้พระคัมภีร์เพื่อบำรุงชีวิต

ตาดู หูฟัง ปากอ่าน(ท่อง) สมองคิด สังเกต จดจำ
ใจ ไตร่ตรอง คำนึง ภาวนา สดด. 1 : 3
ร่างกาย ประพฤติตาม ตรวจสอบตนเอง 1ธม. 3 : 14
ชีวิต ประกาศ สั่งสอน ขยายผล

3 มุ่งมั่น : ความปรารถนาที่จะเรียนรู้พระคัมภีร์ เพื่อบำรุงชีวิต
3.1 แสวงพระองค์ด้วยสุดใจ สดด. 119 : 10
3.2 ขะมักเขม้น ฟังคำสอน กจ. 2 : 42
3.3 ให้พระวจนะดำรงค์อยู่ในตัวเราอย่างบริบูรณ์ คซ. 3 : 16
3.4 ถือเป็นชีวิตจิตใจ 1 ธม. 4 : 15
3.5 หนักแน่น มั่นคง อดทน ทำให้สำเร็จ 2 ธม. 4 : 5

4 พระพรจากการเรียนรู้พระคัมภีร์

4.1ชีวิตเป็นสุข สดด. 119 : 1-2
4.2รับการรักษาอยู่ในทางบริสุทธิ์ สดด.119 : 3
4.3รับปัญญา สดด. 119 : 99-100
4.4การกระทำทุกอย่างรับพรจำเริญขึ้น สดด. 1 : 3
4.5มีความจำเริญ และสำเร็จผลเป็นอย่างดี ยซว. 1 : 8



3.สดุดีนมัสการเป็นชีวิต
คริสตจักร ( คริสเตียน) ต้องนมัสการพระเจ้าสุดชีวิต
1 ชีวิตของมนุษย์ต้องนมัสการพระเจ้า...เพราะว่า
1.1 มนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระลักษณะของพระเจ้า ปฐก. 1 : 26-27
1.2พระองค์เป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ เพียงพระองค์เดียว อสย.43 : 11,44 : 6
1.3 ไม่มีอะไรเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้ามากกว่านี้ รม.1 : 18 :- 25 วว.4 : 1-11
1.4 เป็นพระประสงค์ของพระองค์เอง ฉธบ.10 : 12
1.5 เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง ฉธบ. 10 : 13

2 สดุดีนมัสการพระเจ้า มันเป็นชีวิตของเรา
2.1เป็นความสัมพันธ์แห่งชีวิตกับพระเจ้า ยน.4 : 23-24
2.2พระทรงกำหนดเราไว้เพื่อนมัสการพระองค์ อฟ. 1 : 12
2.3สดุดีนมัสการเป็นสิ่งนิรันดร์ วว.22 : 3-5

3 ชีวิตที่ถวายสดุดีนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้อง
3.1ดำเนินตามพระบัญญัติแห่งการนมัสการพระเจ้า อพย. 20 : 3-11
3.2มีความสอดคล้องระหว่างความเชื่อกับพฤติกรรม ยน. 4 : 23-24
3.3ให้อวัยวะเป็นเครื่องใช้ในการชอบธรรมแด่พระเจ้า รม. 6 : 13
3.4 ให้ชีวิต ความคิดทั้งหมดอยู่ในการครอบครองของพระเจ้า รม. 12 : 1-2
3.5 สนิทสนมกับพระเจ้าอย่างองค์พระเยซูคริสต์ ยน17 : 21

4 การนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์
4.1. เตรียมใจ เตรียมกายเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมในวันเสาร์
4.2. มอบภาระงานไว้กับพระเจ้า ระวังซาตานมักให้เหตุผลไม่ให้มาโบสถ์
4.3. วันอาทิตย์ตื่นแต่เช้า เฝ้าเดี่ยว มาโบสถ์ก่อนเวลาเริ่ม พร้อมเพลง พระคัมภีร์
4.4.ก่อนสิ่งใดเมื่อเข้ามาห้องนมัสการ ให้อธิษฐานส่วนตัวเงียบๆ
4.5.ร้องเพลงนมัสการด้วยสุดจิตสุดใจ
4.6.ฟังพระวจนะด้วยใจจดจ่อ เปิดใจพร้อมรับคำตรัสของพระเจ้า
4.7.เตรียมทรัพย์ (ของถวายอื่นๆ)ให้พร้อมจากบ้าน
4.8.ร่วมรับใช้ หนุนใจ อธิษฐานเผื่อพี่น้องในคริสตจักร



4. อุทิศถวายอย่างสัตย์ซื่อ
การถวายของคริสเตียน เป็นการขอบพระคุณสรรเสริญ นมัสการพระเจ้า หาใช่เป็นการเซ่นไหว้ บนบาน เพื่อเป็นความดีพิเศษไม่

1 วัตถุประสงค์ของการถวาย
1.1 เพื่อสำหรับการดูแลเอาใจใส่ผู้รับใช้พระเจ้า(ศิษยาภิบาล)
-เป็นสิทธิ์ที่ผู้รับใช้ที่ผู้รับใช้ควรได้รับจากคริสตจักร 1คธ.9 : 3-14
-เป็นการให้เกียรติแก่ศิษยาภิบาล 1ธม.5 : 17-18
1.2 เพื่อสำหรับการช่วยเหลือแบ่งปั่นกันและกัน 2คธ 8 : 4 ,9 : 9-12 กจ.11 : 29
1.3 เพื่อส่งเสริมการประกาศข่าวประเสริฐ ฟป.1 : 5, 4 : 14-18
1.4 เพื่อสำหรับการการบริหารงานคริสตจักร

2 การถวายที่เป็นรูปธรรม
2.1 บ้าน : สำหรับกลุ่มเซล หรือต้อนรับผู้รับใช้พระเจ้า ฟป.1
2.2 ทศางค์ : สิบเปอร์เซ็นต์ของรายได้จากเงินเดือน ผลกำไร มลค 3 : 10
2.3 ผลแรก : ผลิตผลทางการเกษตร ฉธบ. 26 : 10-11
2.4 ของฝากอื่นๆที่เป็นประโยชน์ ต่อการดำรงชีวิต ฟป. 4 : 16
2.5 อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานพันธกิจ ต่างๆ ของคริสตจักร

3 พระพรแห่งการถวายอย่างสัตย์ซื่อ
3.1. ความสุข กจ. 20 : 35
3.2 . ความช่วยเหลือในยามขัดสน 2 คธ 8 : 14
3.3 . การดู แลในความเป็นอยู่จากพระเจ้า ปฐก.14 : 20-23 , 28 : 18-22 , สภษ. 3 : 10
3.4 . ความพอเพียงในการทำงาน ทำมาหากิน 2คธ. 9 : 3-11 ฟป. 4 : 17-19
3.5 . คริสตจักรเต็มด้วยบรรยากาศของความรัก การสรรเสริญขอบพระคุณพระเจ้า 2คธ. 9 : 11-15

4 หลักปฎิบัติของการอุทิศถวายอย่างสัตย์ซื่อ
4.1. ถวายตัวแด่พระเจ้าก่อน 2 คธ 8 : 5
4.2. มีการเตรียมพร้อม 2 คธ.9 : 1-5
4.3. ด้วยใจยินดี 2 คธ. 8 : 2 , 10-12 , 9 : 7-11
4.4. เต็มขนาดของส่วนที่ต้องถวาย มลค. 3 : 1 -12
4.5. ด้วยการขอบพระคุณ นมัสการ สรรเสริญพระเจ้า ปฐก. 28 : 18-22



ข้อ 5 . ถือการอธิษฐานเป็นหัวใจ
หัวใจสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงร่างกายฉันใด การอธิษฐานก็เป็นหัวใจสูบฉีดการหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณฉันนั้น
1 พระเยซู : แม้พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงอธิษฐานมาตลอด
1.1 มีจิตใจที่ผูกพันอยู่กับพระบิดา ลก. 2 : 48-50
1.2 ทรงตื่นแต่เช้ามืดเพื่อการอธิษฐาน มก. 1 : 35
1.3 ทรงอธิษฐานตอนพลบค่ำหลังจากเสร็จภาระกิจการงาน มก.6 : 43-47
1.4 ทรงหาเวลาอธิษฐานอยู่เสมอ แม้มีงานมาก ลก. 5 : 15-16
1.5 ทรงอธิษฐานตลอดทั้งคืน ลก.6 : 12 22 : 40-46
1.6 ทรงอธิษฐานแม้ถูกตรึงที่ไม้กางเขน ลก. 23 : 34
1.7 ทรงอธิษฐานเผื่อเชื่อทุกวันนี้ 8 : 35

2 บุคคลต่าง ๆ ในพระคัมภีร์อธิษฐานอย่างจริงจัง
- อับราฮาม ปฐก.12 : 7-8
- โมเสส อพย. 19 : 19
- ดาวิด 2ซมอ. 7- : 18
-ดานิเ ดล ดนอ.6 : 10
-เปาโล กจ. 9 : 11

3 หลักของการอธิษฐาน
บทเรียนจากพระดำรัสสอนเรื่องการอธิษฐาน มัทธิว 6 : 5-14
-อย่าอธิษฐานด้วยท่าทีที่โอ้อวดยกตนข่มท่าน ข้อ5
-มีจิตใจจดจ่อ ใกล้ชิด กับพระองค์ ข้อ6
-รับรู้ว่าพระเจ้าทรงล่วงรู้ถึงความต้องการของเราอยู่เสมอ ข้อ7-8
-จงยกย่อง สรรเสริญความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ข้อ9
-ถ่อมตัว เปิดใจ รับน้ำพระทัย ถวายเกียรติแด่พระองค์เป็นที่ตั้ง ข้อ10
-นำความต้องการของชีวิตของตนเองหรือผู้อื่นทูลต่อพระเจ้า ข้อ11
-มีจิตใจที่สารภาพบาป อภัย ยกโทษให้คนอื่น ข้อ12
-ขอการอวยพร คุ้มครอง ในการดำเนินชีวิตประจำวันต่อพระเจ้า ข้อ13
-จงอธิษฐานในนามพระเยซู โดยความเชื่อ

4 ชีวิตคริสเตียน : อธิษฐาน อธิษฐาน และ อธิษฐาน

จงอธิษฐานทั้งเวลาที่อยู่คนเดียว และเวลาอยู่ในที่ประชน


6.ออกไปประกาศข่าวประเสริฐ

ภาระกิจหลักของคริสตจักร(คริสเตียน) ในชุมชน คือการประกาศข่าวประเสริฐ
1 ข่าวประเสริฐ คือพระเยซูคริสต์
1.1 ทรงเป็นพระเจ้าดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ ยน.1 : 1-3 คซ.1 : 16-17
1.2 ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์จากหญิงสาวพรหมจรรย์ โดยฤทธิ์อำนาถของพระวิญญาณรบริสุทธิ์ ยน. 1 : 14 ลก. 1 : 26-35
1.3 ทรงสิ้นพระชนบนไม้กางเขนไถ่บาปมนุษย์ และเป็นขึ้นในวันที่สาม มธ28 : 1-15 มก. 16 : 1-8 ลก.24 : 1-12 กจ.1 : 9-11
1.4 เสด็จสู่สวรรค์ และจะเสด็จกลับมาอีกครั้ง ยน14 : 3 กจ.1 : 9-11
1.5 ทรงดำรงอยู่เวลานี้ เพื่ออยู่กับเราและช่วยเรา วว. 4 : 1-11 , รม.8 : 32

2 ข่าวประเสริฐต้องถูกประกาศออกไป โดยคริสเตียน
2.1 พระเยซูสั่งให้ออกไปประกาศทั่วโลก มธ.28 : 19-20
2.2 ความรอดจะเกิดขึ้น เมื่อประกาศข่าวเสริฐ รม.10 : 5-17

3 ความรับผิดชอบของคริสเตียนทุกคน
3.1 พระเยซูสั่งให้ออกไปประกาศทั่วโลก มธ.28 : 19-20
-ผู้ที่ยังไม่ได้บังเกิดใหม่
-ผู้ที่ทำการ
3.2 สนับสนุนด้วยการถวาย ฟป.4 : 14-15
-อุปกรณ์ค่าใช้จ่ายในภาระกิจ
-ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้ทำการ
3.3 พูดเรื่อง พระคุณ ความรัก ของพระเจ้าให้กับคนอื่นฟัง
3.4 พระเยซูตรัสถึงกระบวนการของการประกาศข่าวประเสริฐ “ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัด ซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้...... ”
เราเป็นคนนั้นที่ถือรักษาสิ่งสารพัดที่พระองค์สอน
พระเยซูไก่เรารอดจากบาป เพื่อให้เราบอกเรื่องความรอดแก่คนอื่น



7 มุ่งเลิศเสริมสร้างคริสตจักร
คริสตจักรเป็นพระกายของพรเยซูคริสต์ สมาชิกทุกคนเป็นอวัยวะของพระกายของพระองค์ พระกาย (คริสตจักร) จำเริญเติบโตได้โดยความรับผิดชอบของสมาชิกทุกคน ที่ต้องช่วยกันเสริมสร้าง
1 คริสตจักร คือ ชุมชนของพระเจ้า
1.1.มีความผูกพันเป็นกายเดียวในพระคริสต์ อฟ. 2 : 14 - 16
1.2.มีความผูกพันเป็นครอบครัวเดียวกันฝ่ายวิญญาณ อฟ.2 : 19
1.3.มีความผูกพันเป็นพระวิหารอันบริสุทธิ์ อฟ.2 : 21-22
1.4.เป็นชุมที่ต้องเติบโต อฟ. 4 : 12-13

2 คริสตจักรเติบโตได้ โดยความร่วมมือของสมาชิกทุกคน อฟ. 4 : 16
2.1.ทุกคนเป็นบุตร ของพระเจ้า ที่ได้รับพระพรจากพระเจ้า อฟ. 1 : 1-9
2.2.ทุกคนมีชัยเหนือซาตาน ครองสวรรค์ร่วมกับพระเยซู อฟ.1 : 18-20,2 : 4-10
2.3.ทุกคนได้รับของประทานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ อฟ.4 : 7-13,1 คธ.12 : 4-11 ดังนั้นสมาชิกทุกคนจึงมีความสามารถเพียงพอในการเสริมสร้างคริสตจักรให้เติบโตจนถึงความไพบูลย์ ของพระเยซูคริสต์

3 หลักปฎิบัติในการมุ่งเลิศเสริมสร้างคริสตจักร
3.1.รู้จักของประทานของตนเอง และใช้ของประทานนั้นอย่างเต็มที่ ด้วยความถ่อมใจ ด้วยความเชื่อ และด้วยใจขอบพระคุณพระเจ้า รม. 12 : 3-7
3.2. มองการรับใช้เป็นภาพรวมแห่งการพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้นำสูงสุด 1 คธ .12 3.3.ให้ความรักอยู่ในทุกตารางนิ้วของกระบวนการรับใช้ ดังเลือดที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย 1 คธ.13
3.4.มีความตั้งใจที่จะพัฒนาตน เพื่อพัฒนาคริสตจักร 1 คธ. 14.1-12



8 เสริมรักผูกพันในครอบครัว
ครอบครัวคริสเตียนต้องสะท้อนความรักความผูกพันของพระเจ้าต่อมนุษย์
1 ครอบครัวเป็นอาณาจักรแห่งความรักที่พระเจ้ามอบให้มนุษย
1.1.สามี-ภรรยา ผูกพันเป็นกายเดียวกันด้วยความรัก อฟ.5 : 22-33
1.2.สามี-ภรรยา ผูกพันเป็นกายเดียวกันด้วยสิทธิอำนาจ 1 คธ.7 : 1-5
1.3.สามี-ภรรยา ผูกพันเป็นกายเดียวกันไม่มีสอง 1คธ. 7 : 15-18, มธ.19 : 14
1.4.สามี-ภรรยา ผูกพันเป็นกายเดียวกัน เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น มธ.19 : 3-8,22 : 30

2 ยุทธอุบายของซาตาน เพื่อทำลายความรักผูกพันในครอบครัว
2.1.ชักนำให้ละเลยพระวจนะ ปฐก. 3 : 1-4
2.2.ชักนำให้สามี -ภรรยา มีการสมรสมากกว่า 1 ครั้ง ในขณะที่อีกฝ่ายยังมีชีวิตอยู่
2.3.ชักนำให้สามี - ภรรยานอกใจ ทั้งทางความคิดและการกระทำ 2 ซมอ.12 : 11
2.4.ชักนำให้สามี - ภรรยา ไม่มีเวลาให้พระเจ้า ให้กันและกัน 1 ยน.

3 การเสริมรักผูกพันในครอบครัว
3.1. สามี - ภรรยา ต้องพัฒนาตนเองให้เจริญเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ คส. 1 : 28
3.2.สามี- ภรรยา ต้องใช้เวลากับพระเจ้าด้วยกันและให้เวลากันและกัน 1 ยน.1 : 6-7
3.3.สามี-ภรรยา ต้องหลีกหนีเสียจากบรรยากาศที่ชักนำให้กระทำบาปทางความคิด และการกระทำ ต่อชาย / หญิง ที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน ปฐก.39 : 12-13 โยเซพหลีกหนี , 2 ซมอ.11 : 2-5
3.4.สามีต้องรักเข้าใจ ให้เกียรติแก่ภรรยาเหมือนรักตนเอง 1ปต.3 : 1-6 ,อฟ,4 : 22-23
3.5.ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี ของตนไม่ใช่สามีของคนอื่น อฟ.4 : 22-23,1ปต.3 : 1-6
3.6.ให้ความสัมพันทางเพศ เฉพาะในขอบเขตสามี – ภรรยา ของตน 1 คธ. 7 : 1-5

4 การวางตัวของคนที่ยังไม่ได้แต่งงานกันและคู่หมั้น
4.1.รักษาความบริสุทธิ์จนกว่าจะแต่งงาน 1 ธก 4 : 1-8,1คธ.7 : 36
4.2.จงตั้งเป้าหมายชีวิตคู่ตามพระวจนะและอธิษฐาน



9.มอบตัวเพื่อพันธกิจมิชชั่น
การประกาศข่าวประเสริฐ ให้กับชนทุกชาติทั่วโลก เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่คริสตจักร(คริสเตียน) ต้องถือปฎิบัติจนกว่าพระเยซูเสด็จมา
1 พันธกิจมิชชั่น : การประกาศกับคนทุกชาติที่คริสตจักรต้องปฎิบัติ
1.1. เป็นพระมหาบัญชาของพระเยซูตริสต์ มธ.28 : 19-20 ,กจ.1 : 4
1.2.คริสตจักรยุคแรกได้เชื่อฟัง
กจ. 8 : 25 ประกาศในหมู่บ้านชาวสมาเรีย
กจ. 9 : 31 ประกาศทั่วยูเดีย
กจ.10 : 1,45 ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ ยังคนต่างชาติ
กจ.11 : 19-26,13 : 13 แต่งตั้งบารบัส , เปาโลเป็นมิชชั่นนารี
กจ.28 : 17,23-31 เปาโลประกาศสั่งสอนในกรุงโรง
1.3. เป็นแผนการแห่งความล้ำลึกและนิรันดร์ของพระเจ้า
ปฐก. 3 : 15 ข่าวประเสริบครั้งแรก
ปฐก. 12 : 1-3 พระสัญญาสำหรับโลกผ่านทางชนชาติของพระเจ้า
มธ. 1 : 1 พระเยซคริสต์มาไถ่บาปตามพระสัญญา
อฟ.3 : 1 -3 คริสตจักรอยู่เพื่อแผนการของพระเจ้า

2 พันธกิจมิชชั่น : พันธกิจที่คริสจักรต้องมีส่วนร่วม
2.1.ถวายตัวเพื่อมิชชั่นนารี กจ. 9 : 15
2.2.อธิษฐานเพื่อมิชชั่นนารีและงานของเข้า ฟป.1 : 19
2.3.มีส่วนในค่าใช้จ่าย ฟป. 4 : 15
2.4.มีส่วนในการบริจาคสิ่งของ ฟป. 4 : 16-17

3 พันธกิจมิชชั่น : คริสตจักรที่เอาใจใส่ได้รับพระพร


10.ชีวิตนั้นสร้างสรรค์ศิษยาภิบาล
ชุมชนใดๆในโลกนี้ย่อมมีผู้นำ ศิษยาภิบาลเป็นผู้นำคริสตจักร ซึ่งเป็นชุมชนของพระเจ้า
1 ศิษยาภิบาล : ผู้นำชุมชนของพระเจ้า
1.1 เป็นของประทานจากพระเจ้า เพื่อคริสตจักร อฟ. 4 : 11
1.2 เป็นผู้ปกครองดูแลรักษาจิตวิญญาณชุมชนของพระเจ้า กจ.20 : 28

2 ศิษยาภิบาล : ชีวิตที่อยู่เพื่อพระเจ้า เพื่อธรรมิกชน
กจ. 20 : 17-15 - ปรนนิบัติพระเจ้า ให้คุณประโยชน์แก่ธรรมิกชน
ฟป. 1 : 19-26 - อยู่เพื่อพระคริสต์ อยู่เพื่อธรรมิกชน

3 ศิษยาภิบาล : คนของพระเจ้าที่ธรรมิกชนต้องเอาใจใส่สร้างสรรค์
3.1. เป็นสิทธิ์ที่ศิษยาภิบาลพึงได้รับจากสมาชิก 1คธ. 9 : 3-6
3.2 .เป็นกฎของการหว่านกับการเก็บเกี่ยวตามปกติทั่วไป 1คธ. 9 : 7
3.3 .เป็นธรรมบัญญัติที่พระเจ้ากำหนดขึ้น เพื่อพระราชกิจของพระองค์ 1คธ. 9 : 8-13
3.4. เป็นคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ 1คธ. 9 : 14 มธ. 10 : 10 ลก.10 : 7
3.5. เป็นความกรุณาและการเข้ามีส่วนร่วมในการรับใช้ของศิษยาภิบาล ฟป.4 : 14-16
3.6.เป็นการให้เกียรติแก่ศิษยาภิบาล เพราะงานที่เขาทำเป้นสิ่งประเสริฐ 1ธม.3 : 1 5 : 17-8
3.7 เป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าที่ทรงพอพระทัย ฮร. 13 : 16

4 แนวทางสร้างสรรค์ศิษยาภิบาล
4.1.จัดสวัดิการให้ : บ้านพัก ปีสะบาโต การศึกษา ฯลฯ 1 คธ 9 : 3-15
4.2.ให้ค่าตอบแทนเลี้ยงชีพอย่างพอเพียง 1คธ 9 : 11-14 ฟป. 4 : 15 1ธม.5 : 17 18,3 : 1
4.3.แบ่งปันสิ่งดีให้ ฆต. 6 : 6 , ฟป. 4 : 16 , ฮร. 13 : 16
4.4.ร่วมรับใช้ ฟป.4 : 12
4.5. อธิษฐานเผื่อ อฝ.6 : 19 ฟป. 1 : 19 ฮร.13 : 18
4.6. ทำให้ศิษยาภิบาลชื่นใจ ฮร.13 : 17

My Blog

  • วินัยของน้องหมา (ข้างถนน) - วันที่ 18/8/2011 เช้านี้ขณะที่รถติดไฟแดงอยู่บริเวณสี่แยกสามย่าน ซึ่งเบื้องหน้าเป็นจามจุรีสแควร์นั้น พลันก็เหลือบเห็นน้องหมาตัวหนึ่งเดินข้ามทางม้าลายด้วยอ...
    12 ปีที่ผ่านมา
  • บทความคริสเตียน - บทความคริสเตียน http://www.gracezone.org/index.php/christian-articles บทความทางด้านจิตวิญญาณ หลักข้อเชื่อ พระเจ้า พระคัมภีร์ พระเจ้า พระคัมภีร์ แนวทางในการ...
    15 ปีที่ผ่านมา
  • คริสเตียนกับการรับใช้พระเยซู - คริสเตียนกับการรับใช้พระเยซู วัน พุธ 08 ต.ค. 08@ 17:47:37 ICT หัวข้อ: สรุปคำเทศนาประจำอาทิตย์ ดร.ทะนุ วงค์ธนานุกุล วัน อาทิตย์ ที่ 21 กันยายน 2008 พระธร...
    15 ปีที่ผ่านมา
  • - แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้...
    15 ปีที่ผ่านมา

Christian Blog

บล็อกวาไรตี้

เทคโนโลยี

ดาวน์โหลดโปรแกรมมาใหม่ล่าสุด |

วาไรตี้

ข่าวประจำวัน

สารบัญเว็บไทย

กินลม ชมทะเล ที่มาร์คเฮ้าส์บังกะโล เกาะกูด จ.ตราด

Thailand Map