Custom Search By Google

Custom Search

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

คริสตจักรของพระคริสต์

www.thaisermons.com'
คริสตจักรของพระคริสต์
มัทธิว ๑๖.๑๓-๒๐

พระเยซูตรัสว่า “ฝ่ายเราบอกท่านว่า ท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นก็หามิได้ เราจะมอบกุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน ท่านจะกล่าวห้ามสิ่งใดในโลก สิ่งนั้นจะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และเมื่อท่านกล่าวอนุญาตสิ่งใดในโลก สิ่งนั้นจะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ด้วย”มธ. ๑๖.๑๘-๑๙

คริสตจักรเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของมนุษย์!เราผู้เชื่อกำลังอธิษฐานและทำตามคำสอนของพระเยซูให้สำเร็จคือ “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่” ในโลกนี้ ตามสถิติของจังหวัดเชียงใหม่มีคริสตจักรตั้งอยู่ครบทุกอำเภอแล้ว (๒๔ อำเภอ) เมื่อปี ๑๙๘๘ มีคริสเตียนอยู่ ๗ % ต่อมาในปี ๑๙๙๑ มีเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ % และในปี ๒๐๐๒ มีผู้เชื่อเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ % ล่วงเลยมาถึงปี คศ.นี้คงจะมีตัวเลขของผู้เชื่อขยับเพิ่มขึ้นอีก
ตัวเลขนี้ทำให้เราขอบพระคุณพระเจ้า แต่อย่างเพิ่งดีใจ เพราะมีคนบาปอีกถึง ๘๐ กว่าเปอร์เซนต์ ที่ยังไม่ได้รับความรอดและมีชีวิตใหม่ พวกเขาพากันเดินลงไปสู่ความพินาศฝ่ายจิตวิญญาณทุกๆวัน หลายปีมาแล้วผมเคยเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง (ซึ่งทำให้บางคนไม่พอใจ)ว่า “เมื่อครั้งที่เลดี้ ไดอาน่าเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส ภายในเวลาเพียงสองวันคนเกือบทุกมุมโลกได้รับทราบข่าว และพากันโศกเศร้าและไว้อาลัย แต่พระเยซูคริสต์ได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนมากกว่าสองพันปีแล้ว มีคนเพียงหนึ่งในสามของโลกเท่านั้นที่รับทราบและยอมรับเอาพระองค์
พระเยซูตายเพื่อไถ่ความผิดบาปของมนุษย์!
พระคริสต์เป็นใคร?
ในพระคัมภีร์ตอนนี้ พระเยซูตรัสถามบรรดาสาวกว่า คนทั้งหลายต่างคิดว่าพระองค์(บุตรมนุษย์ )เป็นผู้ใด? นี่เป็นคำถามสำหรับพวกเราทั้งหลายในปัจจุบันด้วยเช่นกัน คือ “คนไทยเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าและพระเยซูคริสต์อย่างไร?”
มีคริสเตียนไทยบางคนได้ประกาศข่าวประเสริฐ โดยพยายามจะเอาเรื่องราวพระศรีอาริยเมตตรัย มาประยุกต์เข้ากับเรื่องนี้ และตีความว่าพระเยซูคือผู้ที่ตำนานโบราณกล่าวถึงนั้นยอห์นผู้ให้บัพติสมา ชาวยิวพวกแรกเข้าใจว่า พระเยซูเป็นยอห์นที่กลับมาใหม่ (ข้อ ๑๔) เขาเป็นผู้ซึ่งนำหน้าพระองค์เพื่อปูทางแห่งข่าวประเสริฐในถิ่นทุรกันดาร โดยประกาศให้ประชาชนกลับใจเสียใหม่และรับบัพติสมาในแม่น้ำจอร์แดน (มธ. ๓) ยอห์นเป็นนักเทศน์ปากกล้า ประณามคนผิดบาปอย่างไม่ไว้หน้า ท่านได้ต่อว่ากษัตริย์เฮโรดอย่างตรงไปตรงมาที่เอาน้องสะใภ้มาเป็นภรรยาของตนเอง และยอห์นจึงถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของเฮโรด (มธ. ๑๔)
เอลียาห์ คนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าใจว่าพระเยซูทรงเป็นเอลียาห์ ในสมัยพระคัมภีร์เดิม ท่านเป็นผู้เผยพระวจนะที่ดีเด่น รักพระเจ้า กล้าหาญ ไฟแรง ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา มีประวัติการต่อสู้กับพวกพระบาละบนภูเขาคารเมล โดยเรียกไฟลงมาจากสวรรค์ และฆ่าผู้สอนเทียมเท็จสี่ร้อยคน และท่านมีชัยชนะอย่างงดงาม (ข้อ ๑ พกษ. ๑๗-๑๘) พระเจ้าทรงรับเอลียาห์ขึ้นสู่สวรรค์โดยรถม้าไฟ และมาลาคีได้กล่าวว่าในวาระสุดท้ายเอลียาห์ผู้นี้จะกลับมาอีก (มลค. ๓.๕)
เยเรมีย์และผู้เผยพระวจนะอื่นๆ (ข้อ ๑๔) จากความเข้าใจของประชาชนอิสราเอล ทำให้เราเห็นว่าพระเยซูทรงมีลักษณะของผู้เผยพระวจนะอย่างชัดเจน ดังนั้น พวกเขาจึงคาดเดาว่าพระองค์ต้องเป็นคนหนึ่งคนใดในกลุ่มคนของพระเจ้าที่มีชีวิตอยู่ในอดีต
คนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีความคิดและเข้าใจเกี่ยวกับพระเยซูว่า เป็นผู้สอนธรรมะ เป็นศาสดาที่น่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นคนดีของสังคม แต่หลายคนก็คิดว่าเป็นศาสนาของฝรั่ง!
สำหรับคริสเตียน : พระเยซูตรัสถามว่า “แล้วพวกท่านเล่า คิดว่าเราเป็นใคร?” (ข้อ ๑๕)
พระคริสต์
“ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า ‘พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่’ พระเยซูตรัสกับเขาว่า ‘ ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านก็เป็นสุขเพราะว่ามนุษย์มิได้แจ้งความนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงแจ้งให้ทราบ” (ข้อ ๑๗)
พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นหลักศาสนศาสตร์ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
หนึ่ง พระคริสต์ ในภาษากรีก Christos (คริสตอส) หมายถึงผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมตั้งไว้เป็นกษัตริย์ ให้มีอำนาจในการครอบครองทั้งในโลกนี้และในสวรรค์ (เรียกชื่อในภาษาฮีบรูว่า “พระมาซีฮาห์”) พระคริสต์เป็นผู้ที่จะครอบครองอาณาจักรแห่งจิตใจและจิตวิญญาณของมวลมนุษย์ผู้คนในปัจจุบันแสวงหาสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตของเขามีความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่นิยมมากคือการดูฮวงจุ้ย (ภาษาจีนกลางว่า “เฟิงฉุ่ย”) เขาบอกว่า ชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับลมและน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ทำงาน และหลุมฝังศพ ฮวงจุ้ยดีคือด้านหน้าและทิศใต้ต้องมีทิวทัศน์และแหล่งน้ำ ส่วนทางด้านเหนือหรือด้านหลังจะมีภูเขา วิธีที่จะแก้ไขให้ดีก็คือต้องมีการทุบ ย้าย อุด ฯลฯ เขาเล่าว่าบรูซ ลี ดาราภาพยนตร์ชื่อดังของฮ่องกง เคยไปดูฮวงจุ้ยและซินแสบอกว่าเขามีเคราะห์ จะต้องแก้ด้วยการเอากระจกแปดเหลี่ยมติดไว้ที่ต้นไม้ในสวน เพื่อสะท้อนความชั่วร้ายให้ออกไป แต่ต่อมาลมพัดทำให้กระจกบานนั้นหล่นลงมาแตก และบรูซ ลีไม่ยอมไปหาซินแสเพื่อซื้ออันใหม่มาใส่ ดังนั้นเขาจึงต้องเสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก
ช่างน่าเวทนาเหลือเกิน ที่วิถีของหลายคนขึ้นอยู่กับธรรมชาติ และชีวิตของบางคนแขวนไว้กับกระจกแปดเหลี่ยมเล็กๆเพียงบานเดียว!!
สอง พระบุตรของพระเจ้า คำยอมรับของเปโตรในเรื่องนี้ ทำให้พระเยซูทรงพอพระทัยอย่างมาก พระองค์ตรัสภายหลังจากการสนทนากับนิโคเดมัสว่า “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร” (ยน. ๓.๑๖)ใครก็ตามที่สามารถยอมเสียสละลูกชายของตนเพื่อคนอื่นได้นั้น ไม่ใช่ธรรมดาเลย หลายคนยังจำภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศอิหร่านเมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๐๐๓ ได้ มีผู้คนเสียชีวิต ๔ หมื่นคนและไร้ที่อยู่อาศัยอีกราว ๗ หมื่นคน บ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก ขณะที่หน่วยกู้ภัยกำลังรื้อซากปรักหังพังอยู่ ก็ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ที่ใต้อาคารแห่งหนึ่ง เมื่อรื้อสิ่งกีดขวางออกก็พบหญิงคนหนึ่งฟุบหน้าเสียชีวิตมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ที่ในวงแขนของเธอมีทารกน้อยที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้พบเห็นรู้สึกตื้นตันและซาบซึ้งในความรักของแม่ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อลูกของตน
ลองคิดดูเถิดว่า มนุษย์ผู้เป็นคนบาปยังรักและยอมตายเพื่อลูกของตนเอง ยิ่งกว่านั้นพระเจ้าผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้ทรงสร้างโลกและมนุษย์ก็ทรงรักพวกเราซึ่งลูกของพระองค์ โดยส่งพระบุตรคือพระเยซูให้ลงมาตายที่บนไม้กางเขน เพื่อช่วยเราให้รอด
สาม ผู้ทรงพระชนม์อยู่ เวลานั้นเปโตรยังไม่ทราบว่า พระเยซูจะต้องถูกจับและถูกตรึงตายที่บนไม้กางเขน นี่เป็นการกล่าวคำพยากรณ์ว่า พระองค์จะทรงเป็นขึ้นมาจากความตายและทรงพระชนม์อยู่ ตลอดพระธรรมกิจการได้กล่าวถึงเรื่องนี้ คือ “พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ และมีชีวิตอยู่ตลอดไป” ภาษากรีก zao (ซาโอ) คำนี้ปรากฏในพระคัมภีร์ ๑๔๐ ครั้ง หมายถึงคนเป็น, มีชีวิตอยู่, ฟื้นขึ้นมาใหม่, ธำรงชีวิต, ได้รับการเลี้ยงชีพ, ดำเนินชีวิต, และมีชีวิตจำเริญขึ้น
แน่นอน พระหรือเจ้าที่แท้จริงนั้น จะต้องมีชีวิตอยู่ หากว่าพระหรือเจ้า(ศาสดา)องค์ใดที่เสียชีวิต นั่นไม่ใช้พระเจ้าที่แท้จริง ท่านผู้อ่านที่รัก ความจริงก็คือว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นที่จะช่วยมนุษย์ได้ คนตายไปแล้วย่อมช่วยเหลืออะไรมนุษย์ไม่ได้!บนศิลา
พระเยซูตรัสกับเขาว่า ‘ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านเป็นสุขเพราะว่ามนุษย์มิได้แจ้งความนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงแจ้งให้ท่านทราบ ฝ่ายเราบอกแก่ท่านว่า ท่านคือเปโตรและบนศิลานี้เราจะตั้งคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นก็หามิได้’” (ข้อ ๑๗-๑๘)
เกี่ยวกับเรื่องศิลา นี้ว่านักศาสนศาสตร์มีความคิดเห็นแตกต่างกัน คือ
๑.สร้างคริสตจักรบนเปโตร คำแรกที่พระเยซูตรัสว่า “ท่านคือเปโตร” petro หรือ petros (เพตรอส) ในภาษากรีกแสดงถึงเพศชาย หมายถึงความแข็งแกร่งเหมือนหิน ทางฝ่ายนิกายคาทอลิกได้ตีความว่า พระเยซูทรงตั้งคริสตจักรของพระองค์ไว้บนเปโตร และทรงมอบอำนาจสิทธิ์ขาดให้ด้วย ดังนั้น เปโตรจึงเป็นประมุขคนแรกของคริสตจักรที่เรียกว่าโป๊ป หรือสันตะปาปา เป็นผู้เริ่มต้นของอาณาจักรวาติกัน กลายเป็นนักบุญที่ยิ่งใหญ่เหนืออัครสาวกคนอื่นๆ แต่ตามข้อมูลของพระคัมภีร์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเปโตรเคยไปกรุงโรม
๒.สร้างคริสตจักรบนพระเยซูคริสต์เอง โดยพระองค์ตรัสคำที่สองว่า “บนศิลานี้” ใช้คำว่า petra เป็นศัพท์ที่แสดงถึงเพศหญิง นักศาสนศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าหมายถึง พระเยซูทรงสร้างคริสตจักรไว้บนพระองค์เอง และอัครทูตอื่นๆก็เป็นเหมือนศิลาพื้นฐานของคริสตจักรเช่นกัน (อฟ. ๒.๒๐, วว. ๒๑.๑๔) มีเหตุผลดังนี้ เปโตรเป็นเพียงสาวกรุ่นแรกที่วางหลักความเชื่อลงในชีวิตของผู้คน แต่ท่านไม่ใช่ผู้อำนาจเด็ดขาด คริสตจักรที่แท้จริงจะตั้งอยู่บนมนุษย์คนหนึ่งคนใดไม่ได้ เปโตรเป็นชาวประมง มีอารมณ์ร้อน เคยปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูถึงสามครั้ง และเมื่อท่านเห็นพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว ก็หนีกลับไปจับปลาที่ทะเลสาบกาลิลี แม้กระทั่งตอนที่อยู่ต่อหน้าพี่น้องคริสเตียนต่างชาติ ท่านก็ทำตัวสนิทสนมกลมกลืนกับผู้เชื่อชาวต่างชาติ แต่เมื่อพบกับพวกคริสเตียนยิว เขาก็กลับไปร่วมเสวนากับผู้เชื่อชาวยิว และทำท่าดูหมิ่นดูแคลนรังเกียจเดียดฉันท์พี่น้องคริสเตียน
ต่างชาติเหล่านั้น เรื่องนี้ทำให้เปาโลต้องว่าต่อหน้าตรงๆ (กท. ๒.๑๑-๑๔)เปโตรเองก็ไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นประมุขของคริสตจักร ท่านได้เขียนจดหมายไปถึงคริสเตียนที่รับการข่มเหงว่า “จงมาหาพระองค์ คือพระศิลาที่ทรงชีวิต ซึ่งมนุษย์ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับแล้ว แต่ว่าตามพระดำริของพระเจ้านั้น เป็นศิลาที่ทรงเลือกไว้ และทรงค่าอันประเสริฐ” (๑ ปต. ๒.๔)
คริสตจักร
คริสตจักร(Church) แปลว่า “อาณาจักรของพระคริสต์” ในภาษากรีก ekklesia (เอ็กเคลเซีย) หมายถึงชุมชน(กจ. ๗.๓๘) ที่ประชุม (กจ. ๑๙.๓๒,๓๙) และผู้ที่ถูกเรียกออกมาเพื่อกิจการพิเศษโดยเฉพาะ คนเหล่านี้ได้กลับบังเกิดใหม่ ต้อนรับเอาพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดแล้ว คำว่าคริสตจักร(เอ็กเคลเซีย)ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ ๑๑๔ ครั้ง ดังนั้น คริสตจักรจึงไม่ใช่ตัวอาคารหรือโบสถ์ แต่หมายถึงคริสเตียนทุกคนอำนาจแห่งความตายจะมีชัยชนะเหนือคริสตจักรไม่ได้ คำแรก pule (พูเล) ส่วนมากคำนี้จะแปลว่า “ประตู” คำต่อมา hades (ฮาเดส) หมายถึงแดนคนตายหรือแดนมรณา เป็นสถานที่กักขังดวงวิญญาณของคนบาปที่มีแต่ความร้อน การขบเขี้ยวเคี้ยวฟันและความทุกข์ทรมานยิ่งนัก (ลก.๑๖.๒๓) ดังนั้น จึงแปลพระคัมภีร์ข้อนี้อย่างตรงตัวว่า “ประตูของบึงไฟนรกจะไม่สามารถมีชัยชนะต่อคริสตจักร”
กุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ พระเยซูตรัสแก่เปโตรว่า “เรามอบลูกกุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน ท่านจะกล่าวห้ามสิ่งใดในโลก สิ่งนั้นจะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ เมื่อท่านจะกล่าวอนุญาตสิ่งใดในโลก สิ่งนั้นจะกล่าวอนุญาตในสวรรค์ด้วย” (ข้อ ๑๙)
ลูกกุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์ของสิทธิ์อำนาจ คนที่ผู้เป็นนายไว้วางใจเท่านั้น ที่จะได้รับมอบให้ถือรักษาลูกกุญแจนี้ไว้ ในพระคัมภีร์กล่าวถึงลูกกุญแจแห่งความตาย (วว.๑.๑๘) และลูกกุญแจของดาวิด (วว. ๓.๗) ในวันเพนเตคอส พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จลงมาประทับอยู่กับเหล่าสาวก (กจ. ๒) ฤทธิ์เดชจากเบื้องบนได้สวมทับพวกเขา แล้วเปโตรก็ได้รับอำนาจนี้จากพระเยซู โดยเป็นหัวหอกคนสำคัญ ในการประกาศข่าวประเสริฐของพระคริสต์ และก่อตั้งคริสตจักรของพระองค์ขึ้น (กจ. ๑๐-๑๑, ๑๕.๑๙-๒๐) และพระเยซูทรงมอบสิทธิอำนาจให้แก่สาวกทุกคนด้วย (ยน. ๒๐.๒๒-๒๓)
คริสเตียนที่รัก ขณะนี้ลูกกุญแจสวรรค์อยู่ในมือของท่านแล้ว จงไขมันเถิด เพื่อให้มนุษย์ทุกคนได้เข้ามารับความรอด มีสันติสุขและรับชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์.

ข้อคิด

ประการแรกเราต้องระมัดระวังที่จะไม่เพิ่มเติมพระวจนะของพระเจ้า ในขณะเดียวกันก็ไม่ตัดทิ้ง และไม่ดึงเรื่องมาแบบจับแพะชนแกะ (๒ ปต. ๑.๒๐-๒๑, วว. ๒๒.๑๘-๑๙)
ประการที่สอง อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวในหมู่ชาวพุทธว่า พวกคริสเตียนพยายามที่จะทึกทักโมเมเอา และมีแผนกลืนศาสนาหรือเปล่า? ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “ดูด” ซึ่งเกรงไปว่า จะทำให้เกิดแรงต้านมากกว่าแรงส่ง
ประการที่สาม พระวจนะของพระเจ้าเป็นคำตอบสุดท้าย โดยไม่ต้องการ “ตัวช่วย” ใดๆ พระคัมภีร์เพียงพอแล้วสำหรับการประกาศข่าวประเสริฐ การเป็นพยาน และนำคนมาถึงความรอดและชีวิตนิรันดร์ในพระคริสต์ ขอให้เราตระหนักว่า “พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตาย และทรงพลานุภาพอยู่เสมอ” (ฮร. ๔.๑๒)

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

นับวันของตนเอง

'www.thaisermons.com'
นับวันของตนเอง
สดด. ๙๐.๑-๑๗
คำนำวารสาร TBS News ฉบับมีนาคม ๒๐๐๙ กล่าวถึง “ชีวิตที่ล้มละลาย” โดยตั้งคำถามว่า “ถ้าคุณมีรายได้ ๑,๔๔๐ บาทต่อวัน หรือ ๔๓,๒๐๐ บาทต่อเดือน คุณจะใช้เงินนั้นอย่างไร?” ทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงประทานเวลาให้แก่เราทุกคนเท่าเทียมกันหมด คนละ ๑,๔๔๐ นาทีต่อวัน และ ๔๓,๒๐๐ นาทีต่อเดือน (ปีละ ๕๑๘,๔๐๐ นาทีต่อปี) คุณใช้เวลาเหล่านี้อย่างไร?
มีเรื่องเล่าว่า พระราชาอินเดียถามชายคนหนึ่งเมื่อหาเงินมาได้ทำอย่างไร? “ข้าพระองค์ก็แบ่งเงินออกเป็น ๔ส่วน ส่วนแรกเก็บเอาไว้ใช้เอง ส่วนที่สองเอาไปทิ้งแม่น้ำ ส่วนที่สามเอาไปฝังดิน ส่วนที่สี่เอาไปใช้หนี้” ความหมายของชายคนนี้คือ เอาเงินไปทิ้งแม่น้ำคือเล่นการพนัน ส่วนเอาไปฝังดินคือการทำบุญทำทาน ส่วนเงินที่เอาไปใช้หนี้คือให้แก่พ่อแม่ – ชาวโลกส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมแบบนี้ แต่คริสเตียนจะต้องแตกต่างจากชาวโลกที่ไม่เชื่อพระเจ้า!
พระเจ้ากับมนุษย์ (ข้อ ๑-๓) พระคัมภีร์ตอนนี้เป็นคำอธิษฐานของโมเสส “คนของพระเจ้า” หัวข้อคือ “สภาวะนิรันดร์ของพระเจ้า และความอนิจจังของมนุษย์” ซึ่งมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
๑.พระเจ้าทรงเป็นอาศัย – ส่วนมนุษย์เป็นผู้อาศัย (ข้อ ๑)
๒.พระเจ้าทรงเป็นผู้ทรงสร้าง – แต่มนุษย์เป็นผู้ที่ถูกสร้าง “มนุษย์เป็นเพียงผงคลีดิน” (ข้อ ๓)
๓.พระเจ้าทรงเป็นอมตะ(ดำรงอยู่ตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล ข้อ ๒) – ส่วนมนุษย์เป็นอนิจจัง! วันเวลาก็ต่างกัน “พันปีเท่ากับวันเดียว” (ข้อ ๔) มีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งฝันว่าได้ไปสวรรค์และพบกับพระเจ้า เขาทูลถามพระเจ้าว่า “พระองค์เจ้าข้า พันบาทมีค่าเท่าไหร่?” พระเจ้าตอบ “บาทเดียว” “งั้นข้าพระองค์ขอเงินหนึ่งแสนล้านบาท” พระเจ้าตอบว่า “ได้เลย แต่ขอรอสักหนึ่งวัน” “???!!”
ภาพของชีวิต
ผู้เขียนสดุดีบอกถึงวันเวลาและเปรียบเทียบชีวิตของมนุษย์ ๔ อย่าง
๑.ชีวิตเป็นเหมือนยามเดียว (ข้อ ๔) “ชั่วโมงที่สั้นในเวลากลางคืน” (GNMV)
๒.ชีวิตเป็นเหมือนความฝัน (ข้อ ๕) ความฝันนั้นยาวนานเท่าไหร่?
๓.ชีวิตเป็นเหมือนดอกหญ้า ในทะเลทราย “งอกขึ้นในเวลาเช้า บานและใหญ่ขึ้น พอเย็นก็ร่วงโรยและเหี่ยวไป (ข้อ ๕-๖)
๔.ชีวิตวัดกันที่ปลายจมูก “ กำหนดปีของข้าพระองค์สิ้นสุดลงอย่างเสียงถอนหายใจ” (ข้อ ๙) พระคัมภีร์ข้อต่อมาบอกว่า “กำหนดปีคือเจ็ดสิบ หรือสุดแต่กำลังก็ถึงแปดสิบ” (ข้อ ๑๐) คิดเป็นวันก็เฉลี่ย ๒๕,๕๕๐ วันหรือ๒๙,๒๐๐ วัน
อสย. ๔๐.๖-๘ ชีวิตเป็นเหมือนต้นหญ้า คนไทยเรียกวัยต่างๆดังนี้ “๑๐ ขวบวัยอาบน้ำไม่หนาว ๒๐ ปีเกี้ยวสาวไม่เบื่อ ๓๐ ปีสู้เสือทุกท่า ๔๐ ปีรามือก่อนไก่ ๕๐ ปีไปนากลับมาทอดหุ่ย ๖๐ ปีเป่าขลุ่ยไม่ดัง ๗๐ ปีเดินหลังไม่ตรง ๘๐ ปีลงดินไม่ได้ ๙๐ ปีขี้ไหลไม่รู้ตัว ๑๐๐ ปีหัวเราะเหมือนร้องไห้ ๑๑๐ ปีไข้ก็ตายไม่ไข้ก็ตาย” นับวันของตนเองอดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นจริง!
พระคัมภีร์ตอนนี้ (ข้อ ๑๒-๑๖) แนะนำการดำเนินชีวิตคริสเตียนอย่างคุ้มค่า
๑.นับวันของตนเอง “ขอพระองค์ทรงสอนให้นับวันของข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะได้มีจิตใจที่มีปัญญา” (ข้อ ๑๒) เปาโลบอกแก่คริสเตียนเอเฟซัสว่า “จงฉวยโอกาส เพราะว่าทุกวันนี้เป็นกาลที่ชั่ว” (อฟ. ๕.๑๗)และเปาโลบอกแก่อารคิปปัสว่า “งานรับใช้ที่ท่านรับทำให้องค์พระผู้เป็นเจ้านั้น ขอเตือนว่าจงทำให้สำเร็จ” (คส. ๔.๑๗)สิ่งที่ยากที่สุดคือ “ลำดับความสำคัญก่อนหลัง” มาร์ติน ลูเธอร์นักปฏิรูปศาสนาจากคาทอลิกมาเป็นโปรเตสแตนท์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตประหนึ่งว่า พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวานนี้ เป็นขึ้นมาจากความตายวันนี้ และจะเสด็จกลับมาในวันพรุ่งนี้”
๒. อิ่มด้วยความรัก “ขอทรงให้ข้าพระองค์ทั้งหลายอิ่มในเวลาเช้าด้วยความรักมั่นคงของพระเจ้า” (ข้อ ๑๔) คริสเตียนอิ่มฝ่ายจิตวิญญาณทุกเช้าด้วยการอ่านพระคัมภีร์ อธิษฐาน และนมัสการพระเจ้า (แต่มีบางคนอิ่มด้วยเกมส์ออนไลน์ อิ่มด้วยการนอนหลับ อิ่มด้วยความสนุกสนานด้วยเรื่องไร้สาระ)
๓.ยินดีให้มากวัน “เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้เปรมปรีดิ์และยินดีตลอดวันเวลาของข้าพระองค์” (ข้อ ๑๔) “ขอให้ข้าพระองค์ทั้งหลายยินดีให้มากวัน เท่ากับที่พระองค์ได้ทรงให้ข้าพระองค์ทุกข์ยากนั้นและให้มากปีเท่าที่ข้าพระองค์ได้ประสบการร้าย” (ข้อ ๑๕)“จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำว่า จงชื่นชมยินดีเถิด” (ฟป. ๔.๔)
๔.ขอเห็นสง่าราศีของพระเจ้า “ขอให้พระราชกิจของพระองค์ปรากฏแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ และให้ความรุ่งโรจน์ของพระองค์ปรากฏแก่ลูกหลานของเขา” (ข้อ ๑๖)
๕.ขอความโปรดปราน “ขอให้ความโปรดปรานของพระเจ้าอยู่เหนือข้าพระองค์ทั้งหลาย” (ข้อ ๑๗)
๖.ขอพระพร “ขอทรงสถาปนาหัตถกิจของข้าพระองค์เหนือข้าพระองค์”
๗.ขอความสำเร็จ “ขอให้ข้าพระองค์ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ข้าพระองค์กระทำ” (GNMV)
สรุป
เราทุกคนมาจากการทรงสร้างของพระเจ้า ให้เราใช้วันเวลาอันเต็มที่ “คุ้มค่า” สมกับที่ได้เกิดมาเพียงครั้งเดียวหากมีชีวิตอยู่เราก็อยู่เพื่อพระเจ้า และหากจากไปก็จะรับบำเหน็จรางวัล

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า

"31 เหตุฉะนั้น เมื่อท่านจะรับประทานจะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า
32 อย่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกยิว หรือพวกกรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดไป
33 ข้าพเจ้าเองได้พยายามกระทำทุกสิ่ง เพื่อให้เป็นที่พอใจของคนทั้งปวง มิได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งหลาย เพื่อให้เขารอดได้
1 ท่านทั้งหลายก็จงปฏิบัติตามอย่างข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติตามอย่างพระคริสต์ " (1โครินธ์ 10:31-11:1)



คำถามที่คนทั่วไปมักจะถามกัน ก็คือ "ชีวิตเราอยู่เพื่ออะไร ?" แน่นอนว่า ถ้าหากชีวิตของเราได้รู้จักกับพระเจ้า เราก็จะพบกับคำตอบนี้

จากพระธรรมตอนนี้ (1โครินธ์ 10:31-33) อาจารย์เปาโลได้เขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินธ์ ซึ่งจดหมายของท่านก็ได้สอนแก่เราเช่นกัน โดยท่านได้สอนเรา 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านที่ท่านกล่าวเตือนว่าอย่าทำ และด้านที่ท่านแนะนำให้เราทำ




สิ่งที่อาจารย์เปาโลกล่าวเตือนว่าอย่าทำ


1. อย่าให้เราทำให้ผู้ใดหลงผิดไป

"อย่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกยิว หรือพวกกรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดไป" (1โครินธ์ 10:32)
การที่อาจารย์เปาโลเน้นย้ำว่า "พวกยิว หรือพวกกรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้า" ก็หมายความว่า ไม่ ว่ากับพี่น้องที่เป็นคริสเตียน หรือพี่น้องที่ยังไม่ได้เป็นคริสเตียน เราจะต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดสะดุดล้มลงไป มิฉะนั้น การกระทำของเราก็จะไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า

"6 แต่ผู้ใดจะทำผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่ง ที่วางใจในเราให้หลงผิด ถ้าเอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอผู้นั้นถ่วงเสียที่ทะเลลึกก็ดีกว่า
7 วิบัติแก่โลกนี้ด้วยเหตุให้หลงผิด ถึงจำเป็นต้องมีเหตุให้หลงผิด แต่วิบัติแก่ผู้ที่ก่อเหตุให้หลงผิดนั้น" (มัทธิว 18:6-7)

2. อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

"ข้าพเจ้าเอง ได้พยายามกระทำทุกสิ่ง เพื่อให้เป็นที่พอใจของคนทั้งปวง มิได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งหลาย เพื่อให้เขารอดได้" (1โครินธ์ 10:33)
ถ้าเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราก็จะไม่สนใจใคร เราก็จะทำอะไรตามใจตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

ปัญหาต่าง ๆ ในสังคม สาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่ง ก็คือ การเห็นแก่ตัว และถ้าเราคริสเตียนเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เราก็อาจจะทำให้พี่น้องสะดุดได้

"3 อย่าทำสิ่งใดในทางชิงดีกัน หรือถือดี แต่จงมีใจถ่อมถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว
4 อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย" (ฟิลิปปี 2:3-4)



สิ่งที่อาจารย์เปาโลแนะนำให้เราทำ


1. ชีวิตเราจะต้องกระทำทุกสิ่งถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยชีวิตประจำวันของเรา

"เหตุฉะนั้น เมื่อท่านจะรับประทานจะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า" (1โครินธ์ 10:31)
คำว่า "จะรับประทานจะดื่ม" ก็หมายถึง การดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ส่วนคำว่า "หรือจะทำอะไรก็ตาม" หมายความว่า "ไม่ว่าจะวาจา ท่าที การกระทำทั้งที่ลับและที่่แจ้ง ทุกอย่างจะต้องเป็นที่ถวายเกีรยติแด่พระเจ้า"

ตัวอย่างที่ดี ก็คือ ท่าน "โยเซฟ" ในชีวิตของท่าน ไม่ว่าท่านอยู่ในตำแหน่งใด ท่านก็มีชีวิตที่ดีงาม เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัด ได้แก่ตอนช่วงเวลาที่ท่านโดนภรรยาของนาย (ภรรยาของโปทิฟาร์) ล่อลวงที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ท่านก็ปฏิเสธ แม้จะไม่มีใครเห็น โดยท่านกล่าวตอบแก่นายหญิงว่า

"8 แต่โยเซฟไม่ยอม จึงตอบแก่ภรรยาของนายว่า 'คิดดูเถิด เมื่อมีข้าพเจ้า นายก็มิได้ห่วงสิ่งใดซึ่งอยู่ในบ้านเรือน ได้มอบของทุกอย่างที่มีอยู่ไว้ในมือข้าพเจ้า
9 ในบ้านนี้ นายก็ไม่ใหญ่กว่าข้าพเจ้า นายมิได้หวงสิ่งใดจากข้าพเจ้า ยกเสียแต่ตัวท่านเพราะเป็นภรรยาของนาย ข้าพเจ้าจะทำความผิดใหญ่หลวงนี้อันเป็นบาปต่อพระเจ้าอย่างไรได้' " (ปฐมกาล 39:8-9)

2. ชีวิตเราจะต้องกระทำทุกสิ่งถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยการมีน้ำใจที่ดีงามต่อผู้อื่น

"ข้าพเจ้าเอง ได้พยายามกระทำทุกสิ่ง เพื่อให้เป็นที่พอใจของคนทั้งปวง มิได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งหลาย เพื่อให้เขารอดได้" (1โครินธ์ 10:33)
ไม่เพียงแต่เราจะไม่เห็นแก่ตัว เราจะต้องไม่เอาประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง เราจะต้องมีนำ้ใจที่ดีงาม ทำความดีงามแก่พี่น้อง ให้พี่น้องชื่นชมยินดี ให้พี่น้องได้รับพระพร

"23 เราทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำได้นั้นเป็นประโยชน์ เราทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำให้เจริญขึ้น
24 อย่าให้ผู้ใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น" (1โครินธ์ 10:23-24)
อาจารย์เปาโล ไม่เพียงแค่สอน แต่ท่านก็เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะท่านพยายามทำทุกสิ่งเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย


3. ชีวิตเราจะต้องกระทำทุกสิ่งถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้พี่น้องได้รับความรอด

"ข้าพเจ้าเอง ได้พยายามกระทำทุกสิ่ง เพื่อให้เป็นที่พอใจของคนทั้งปวง มิได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งหลาย เพื่อให้เขารอดได้" (1โครินธ์ 10:33)
ความมุ่งมั่นของอาจารย์เปาโล คือ เพื่อให้ทุกคนได้รับความรอด เพราะนี่เป็นพระมหาบัญชาของพระเยซูที่ทรงสั่งไว้ แน่นอน ถ้าเรารักพระเจ้า เราจะต้องเชื่อฟังพระองค์ เราจะต้องกระทำตามพระมหาบัญชาของพระองค์ นั่นคือ "นำคนถึงความรอด"

"เพราะว่า สิ่งสารพัดนั้นเป็นไป เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย เพื่อว่าเมื่อพระคุณมาถึงคนเป็นจำนวนมากขึ้น ก็จะมีการขอบพระคุณมากยิ่งขึ้น เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า" (2 โครินธ์ 4:15)
เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ผู้ซึ่งเป็นผู้รับใช้พระเจ้า เป็นคริสตชน ที่จะทำให้พระมหาบัญชาของพระเจ้าสำเร็จ


4. ชีวิตเราจะต้องกระทำทุกสิ่งถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยแบบอย่างชีวิตที่ดีงาม

"ท่านทั้งหลายก็จงปฏิบัติตามอย่างข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติตามอย่างพระคริสต์" (1โครินธ์ 11:1)
อาจารย์เปาโลกล้าที่จะขอพี่น้องที่โครินธ์และเรา ทั้งหลาย ที่จะให้เลียนแบบอย่างท่าน เพราะว่าท่านได้กระทำตามอย่างพระเยซูคริสต์เจ้าแล้ว

หลังจากที่ท่านเรียกร้องให้เราดำเนินชีวิตเพื่อเป็นที่ ถวายเกียรติแด่พระเจ้า ท่านก็ได้สรุปด้วยการที่ให้เรากระทำตามอย่างที่ท่านได้กระทำ

ชีวิตคริสเตียน สามารถมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ ด้วยการที่เรากระทำตามอย่างพระคริสต์ และชีวิตเราก็จะเป็นพรแก่ผู้อื่นได้

"1 แต่จงเข้าใจข้อนี้ คือว่า ในสมัยจะสิ้นยุคนั้น จะเกิดเหตุการณ์กลียุค
2 เพราะมนุษย์จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน เย่อหยิ่ง ยโส ชอบด่าว่า ไม่เชื่อฟังคำบิดามารดา อกตัญญู ไร้ศีลธรรม
3 ไร้มนุษยธรรม ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน ไม่ยับยั้งชั่งใจ ดุร้าย เกลียดชังความดี
4 ทรยศ มุทะลุ หัวสูง รักความสนุกยิ่งกว่ารักพระเจ้า
5 ถือศาสนาแต่เปลือกนอก ส่วนแก่นแท้ของศาสนาเขาไม่ยอมรับ คนเช่นนั้นท่านอย่าคบ" (2ทิโมธี 3:1-5)
สังคมทุกวันนี้ ที่เลวร้าย ส่วนหนึ่งเกิดจากว่า สังคมขาดแบบอย่างที่ดี

เราทั้งหลายซึ่งเป็นคริสเตียน จะต้องมีชีวิตที่ถวายเกีรยติแด่พระเจ้า เพื่อที่เราจะมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างในสังคมได้ และชีวิตของเราจะเป็นคำตอบที่ดีให้แก่คนที่ยังไม่รู้จักพระเจ้า ให้เขาเห็นพระเจ้าในชีวิตของเรา

"19 ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งสถิตอยู่ในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง
20 พระเจ้าได้ทรงซื้อท่านไว้แล้ว ด้วยราคาสูง เหตุฉะนั้น ท่านจงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่านเถิด" (1โครินธ์ 6:19-20)


ศจ. วิรัช เศรษฐ์โสภณกุล

สรุปคำเทศนาโบสถ์ไทย คริสตจักรสะพานเหลือง

เมื่อวันที่ 15/03/2009

เรื่อง ชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า

สงครามนี้ของใคร?

www.thaisermons.com / คำเทศนา ต่างประเทศ เรื่อง สงครามนี้ของใคร‏

สรุปจากบทความ “Whose battle is these? จาก Ministry Tool Box ของ Pastor Rick Warren แปล;หญิง นงนุช)

1. คุณรู้หรือไม่ว่า ข้อพระคัมภีร์ที่อยู่กึ่งกลางของพระคัมภีร์เดิมคือข้อใด? คำตอบคือ 2 พงศวดาร 20:17 ความสำคัญไม่เพียงเพราะว่ามันอยู่ตรงกลาง แต่มันสำคัญเพราะพระเจ้าปรารถนาจะพูดกับเราทุกคนที่กำลังอยู่ในสงคราม
2. ดูในบริบท พระเจ้าทรงสนทนากับใคร? พระเจ้าทรงพูดกับ กษัตริย์เยโฮชาฟัท และชนชาติของพระองค์ ซึ่งกำลังถูก
2.1 โจมตีโดยศัตรู 3 พวก โมอับ อัมโมน และเมอูนี (ข้อ 1)
2.2 เยโฮชาฟัท จะรู้สึกไง? กลัว กังวล
2.3 แต่ว่า พระเจ้ารู้ความคิดของเขา พระองค์จึงบอกเขาว่า “ไม่จำเป็นที่ท่านต้องสู้รบในสงครามครั้งนี้”
3. สิ่งที่พระเจ้าบอกกับกษัตริย์เยโฮชาฟัทในตอนนี้ ย้ำเตือนเราอีกครั้งว่า “สงครามนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระเจ้า” เราไม่จำเป็นต้องสู้ ให้พระองค์สู้ นี่เป็นปัญหาของพระองค์ ให้พระองค์แก้ปัญหานี้
4. ความจริงคือ หากเราเป็นลูกของพระองค์ ปัญหาของเรา คือปัญหาของพระองค์ พระองค์ชำนาญสงครามมากกว่าเรา และพระองค์รู้วิธีแก้ปัญหาของเราดีกว่าที่เราทำได้ หน้าที่ของเราคือ เราเพียงแต่ต้องวางใจในพระองค์ และยอมให้พระองค์จัดการ
5. เหตุผลที่เรารู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน ล้าเหลือทน และเรากลายเป็นคนงานที่ท้อแท้ เต็มไปด้วยความรู้สึกว่า “ฉันแบกทั้งโลกไว้บนบ่าของตัวเอง และรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง นั้นขึ้นอยู่กับฉันทั้งหมด” แต่วันที่เราลาออกจากการเป็นสาระพัดเบ๊ เรามักค้นพบว่า โลกมันไม่ได้ระเบิด หรือหยุดหมุนสักหน่อย เราสามารถ relax อยู่บทความเชื่อ และวางใจว่าพระเจ้าจะสามารถทำทุกสิ่งได้ แม้เราจะไม่ได้ช่วยอะไรพระองค์เลยก็ตาม
6. 2 ครั้งในพระธรรมตอนนี้ที่พระองค์บอกว่า “อย่ากลัวเลย” และ “อย่าท้อถอย” เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ความพยายามที่จะสมานรอยร้าวในครอบครัว ปัญหาที่ไม่มีทางออกจนปัญญาจะแก้ไข งานรับใช้ที่เต็มไปด้วยปัญหามืดแปดด้าน หรือการยืนหยัดเดียวดายในความเชื่อ “อย่ากลัวเลย” และ “อย่าท้อถอย” เคยหรือที่พระเจ้าพ่ายแพ้สงคราม? ไม่เคยเลย และเพราะพระองค์ไม่เคยพ่ายแพ้ เราจึงไม่ต้องกลัวอะไร
7. พระองค์คือผู้ชนะตลอดกาล และข่าวดีคือ พระองค์เล่นอยู่ข้างเดียวกับเรา แม้เราจะพบปัญหามากมาย ความยุ่งยากต่างๆ นานา หรือ อุปสรรคนานับประการ หรือสถานการณ์ที่ยาก ถูกปฏิเสธ ความล่าช้า ท้ายที่สุดแล้ว เรายังอยู่ฝ่ายชนะอยู่ ขอเพียงแต่เราอย่ากลัว อย่าท้อถอย
8. มีข้อความสำคัญในข้อ 17 พระเจ้าบอกเยฮาชาฟัทว่า “ จงเข้าประจำที่ ยืนนิ่งอยู่” หมายความว่าอย่างไร? ให้ยืนนิ่งอยู่ หมายถึงท่าทีในใจที่ตั้งมั่นที่จะทำหน้าที่นั้น เผชิญหน้ากับมัน พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะให้เราหันหลังให้กับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราต่างค้นพบว่า เมื่อไรก็ตามที่เราพบสถานการณ์ที่ยาก และเราเลือกที่จะหนี ไม่ช้าไม่เร็ว พระเจ้าจะนำสถานการณ์คล้ายๆ กันกลับเข้ามาในชีวิตของเราอีกเพื่อให้โอกาสเราอีกครั้ง เราไม่อาจหลีกหนีไปได้ พระองค์ให้โอกาสเราอีกครั้งที่จะ “เข้าประจำที่ ยืนนิ่งอยู่” พระองค์ปรารถนาที่จะสอนเราให้เรามีประสบการณ์ และเรียนรู้ว่า “พระองค์สามารถ ที่จะนำเราผ่านสถานการณ์นั้น อย่ากลัวเลย เพราะความกลัวยืนอยู่ตรงข้ามความวางใจพระองค์
9. แล้วเราต้อง ยืนมั่นคงอยู่อย่างไรในขณะที่รอให้พระเจ้าสู้สงครามแทนเรา? เมื่อเรามองหาการอัศจรรย์ในชีวิตสมรส ปัญหาการเงิน งานใหม่ที่ยากเย็นเหลือเกิน เราจะยืนมั่นคงอยู่บนอะไร? เรายืนอยู่บนสองสิ่ง
9.1 พระลักษณะของพระเจ้า พระเจ้านั้นสัตยซื่อ พระองค์ไม่ได้นำเรามาไกลขนาดนี้เพื่อให้เราล้มเหลว พระองค์ไม่ได้นำเราอยู่ที่หน้าผา เพื่อจะผลักเราให้ตกลงไปเล่นๆ ดังนั้นเราวางใจในธรรมชาติ และพระลักษณะของพระองค์ได้ (goodness and mercy)9.2 ความจริงแห่งพระวจนะของพระองค์ พระคำของพระองค์เป็นความจริง ดังนั้นเราสามารถเชื่อวางใจในพระสัญญาของพระองค์ที่พบอยู่ในพระคัมภีร์ได้ ตั้งมั่นคงอยู่ และให้เราจำเสมอว่า “สงครามนี้ไม่ได้เป็นของเรา แต่เป็นของพระเจ้า” ให้เราเข้าประจำที่ ยืนนิ่ง และรอดูชัยชนะของพระเจ้าเพื่อเราร่วมกัน

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

เติมชีิวิต เพิ่มพระเกียรติ

"พระเยซูตรัสกับเธอว่า 'เราบอกเจ้าแล้วมิใช่หรือว่า ถ้าเจ้าเชื่อเจ้าก็จะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า' " (ยอห์น 11:40)

เมื่อเราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เราทำเพื่ออะไร เช่น เรารับประทานอาหารเพื่ออะไร เราก็คงจะรู้ว่าเราจะรับประทานอาหารเพื่ออะไร แล้วการที่เรามาโบสถ์ล่ะ เรามาเพื่ออะไร ? เรามาโบสถ์ ก็เพื่อที่จะเติมชีวิต เพื่อรับชีวิตจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

เราไม่ใช่ชาวดิน แต่เราเป็นชาวฟ้า เป็นชาวสวรรค์ เราจึงต้องมาโบสถ์เพื่อได้รับการเปลี่ยนชีวิต เพราะตลอด 6 วันในแต่ละสัปดาห์ เราได้สัมผัสกับชีวิตชาวโลก ได้รับฟังการนินทาต่าง ๆ โลกและความบาปได้เปลี่ยนชีวิตของเราจากขาวกลายเป็นดำ ในวันอาทิตย์ เราจึงต้องมาโบสถ์ เพื่อให้พระเยซูคริสต์เปลี่ยนชีวิตของเราจากดำกลายเป็นขาว เพื่อจะรับสิ่งใหม่ที่พระเจ้าทรงเพิ่มเติมในสิ่งที่เราเสียไป เพราะเราเป็นชาวสวรรค์ ไม่ใช่ชาวดิน ขอพระเจ้าช่วยที่ชีวิตชาวดินของเราจะหมดไป แต่ขอที่ชีวิตชาวฟ้า ชีวิตชาวสวรรค์จะเข้ามาในชีวิตเรา

พี่น้องที่รัก เราจำเป็นต้องรู้ความจริง เพราะถ้าเราไม่รู้ความจริง เราก็จะถูกชักจูงให้หลงไป และเมื่อเราเข้าใจความจริง ความจริงจะทำให้เราเป็นอิสระ เป็นไท

ถ้าเราได้มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เราก็จะรักษาสุขภาพอย่างดี และเราก็จะไม่ต้องกลัวที่จะเป็นโรคภัยอะไร พระเจ้าทรงสร้างร่างกายของมนุษย์ที่จะป้องกันจากสิ่งอันตรายต่าง ๆ แต่ถ้าหากเราไม่ดูแลรักษาให้ดี ร่างกายของเราปรับตัวไม่ไหว และจะส่งผลเสียต่อร่างกายในที่สุด นำมาซึ่งความทุกข์โศก ถ้าเราเข้าใจความจริง เราก็จะดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง

เช่นเดียวกันกับชีวิตของเรา เราต้องเข้าใจชีวิตของเรา ร่างกายของเรามีแต่จะทรุดโทรมลง แก่ลง เจ็บป่วย และตายในที่สุด แต่พระเจ้ามิได้สร้างเราแค่นี้ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจในจุดนี้ เราก็จะไม่ทุ่มเททั้งชีวิตไปกับร่างกายนี้ คำถามที่เราควรถามเสมอ คือ ถ้าหากเวลานี้เราต้องจากโลกนี้ไป เราจะคว้าอะไรไปได้ ? อะไรที่จะติดตัวเราไปได้ ? เราคงจะเอาเครดิตการ์ด ทรัพย์สินเงินทองไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราเอาไปได้ คือ "ความเชื่อ" ดังนั้น เราต้องคิดว่า "ความเชื่อ" ที่จะไปกับเรานี้ เรามีมากเพียงไร ?

"ความเชื่อ" เป็นการที่เราเข้าใจในความจริงของพระเจ้า ตามความเป็นจริงของพระองค์ ไม่ใช่เชื่อตามความคิดหรือตามอารมณ์ ขอพระเจ้าเป็นพระเจ้าตามที่พระองค์ทรงเป็น ความเชื่อที่ถูกต้องจึงจะมีอำนาจที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความบาป ช่วยให้เราหลุดพ้นจากความสงสัยต่าง ๆ และความจริงเหล่านี้จะปลดปล่อยให้เราเป็นไท จากการผูกมัดของโลกียวิสัย

ถ้าหากเราเชื่อพระเจ้าตามความคิดของเรา ตามความพอใจของเรา ชีวิตของเราคงจะไม่สามารถที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะไม่ได้รับพระพร ไม่ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

แต่ถ้าเราเข้าใจในความจริงพระเจ้าตามความจริงของพระองค์ พระเจ้าทรงเป็นความรัก และทรงบริสุทธิ์ ความเชื่อที่แท้จริงเหล่านี้ จะทำให้เรามีความรู้สึก "เกลียดบาป" ไม่ใช่เพียงแค่รู้ดีรู้ชั่วเท่านั้น แต่เราจะเกลียดชังความบาปด้วย

พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้า เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อพระเจ้า พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าดังที่พระองค์ทรงเป็น พระองค์คงจะไม่เปลี่ยนไปเพราะเราคิดว่าพระองค์เป็นเช่นไร แต่ทรงเป็นอย่างที่ทรงเป็นอยู่ ดังนั้น ท่าทีของเราควรจะยำเกรงพระเจ้า


"เพราะพระเจ้าประเสริฐ ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงเป็นนิตย์ และความสัตย์สุจริตของพระองค์ดำรงอยู่ทุกชั่วชาติพันธุ์" (สดุดี 100:5)


ความเชื่อในความจริงของพระเจ้า จะทำให้ชีวิตของเรายกระดับ เพราะถ้าหากไม่มีความเชื่อที่ถูกต้อง เราจะเห็นชีวิตของเราเป็นใหญ่ และจะเห็นพระเจ้าเล็กลง เราจะมีชีวิตที่ซอมซ่อ ซ้ำซาก เหมือนหมูทุบ ที่จะต้องโดนทุบด้วยค้อนที่มีตะปุ่มตะป่ำอย่างซ้ำซาก แต่ถ้าเราเข้าใจพระเจ้าตามความเป็นจริง ว่าพระเจ้าทรงประเสริฐ ความรักมั่นคงดำรงเป็นนิตย์ พระองค์ทรงมีพระสัญญาว่าจะอยู่กับเราทั้งหลายจนกว่าจะสิ้นยุค เมื่อ เราให้พระเจ้าเป็นใหญ่ในชีวิตของเรา เราก็จะมองตัวเราเล็กลง เราก็จะไม่มีความสงสัยและไม่มีความกลัว และเราก็จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ


"1 ดูก่อน พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอให้ท่านคำนึงถึงข่าวประเสริฐ ที่ข้าพเจ้าเคยประกาศแก่ท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านได้ยอมรับไว้ อันเป็นฐานซึ่งท่านทั้งหลายตั้งมั่นอยู่
2 และซึ่งจะทำให้ท่านรอด ถ้าท่านยังยึดตามหลักคำสอนที่ข้าพเจ้าได้ประกาศนั้น เว้นเสียแต่ท่านได้เชื่อเฉย ๆ" (1โครินธ์ 15:1-2)


ปัญหาของเราหลายคนอยู่ที่นี่ คือ "เชื่อเฉย ๆ" ความเชื่อเช่นนี้แหละเป็นความเชื่อที่ก่อให้เกิดความสงสัยต่าง ๆ มากมาย เพราะไม่ได้เชื่อพระเจ้าตามที่พระองค์ทรงเป็น จะไม่ได้รับฤทธิ์เดชของพระเจ้า และพระเจ้าก็จะมิได้ทรงเคลื่อนไหวในชีวิตของเรา เราก็จะไม่สามารถเป็นพยานได้

แต่ถ้าความเชื่อที่แท้จริง จะเป็นความเชื่อที่ไม่มีความสงสัย ดังที่โมเสสเชื่อพระเจ้าอย่างไม่สงสัย ท่านจึงได้นำอิสราเอลข้ามทะเลแดงไปได้ ท่านจึงสามารถที่จะทำลายกำแพงเมืองเยรีโคได้ ความเชื่อเช่นนี้แหละ ที่จะทำให้เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เพราะพระเจ้าจะสามารถทำการใหญ่ในชีวิตของเราได้ เป็นความเชื่อที่ทำให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของพระเจ้า และเมื่อเราได้เป็นพยาน คนที่เราเป็นพยานด้วยอาจจะไม่เชื่อ แต่เขาจะสนใจที่จะศึกษา มาร่วมนมัสการที่คริสตจักร


"7 อย่างไรก็ตาม เราจะบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลาย คือ การที่เราจากไปนั้นก็เพื่อประโยชน์ของท่าน เพราะถ้าเราไม่ไป องค์พระผู้ช่วยก็จะไม่เสด็จมาหาท่าน แต่ถ้าเราไปแล้ว เราก็จะใช้พระองค์มาหาท่าน
8 เมื่อพระองค์นั้นเสด็จมาแล้ว พระองค์จะทรงกระทำให้โลกรู้แจ้งในเรื่องความผิด ความชอบธรรม และการพิพากษา" (ยอห์น 16:7-8)


ขอพระเจ้าช่วยที่เราจะบังเกิด ใหม่ฝ่ายวิญญาณ ที่เราจะรู้แจ้ง รู้อย่างชัดเจน ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าดังที่พระองค์ทรงเป็น เราจึงจะสามารถที่จะให้พระองค์ทรงสำแดงฤทธิ์เดชผ่านชีวิตของเรา




ศจ. ประเสริฐ พรกีรติกุล

สรุปคำเทศนาโบสถ์ไทย คริสตจักรสะพานเหลือง

เมื่อวันที่ 08/03/2009

เรื่อง เติมชีิวิต เพิ่มพระเกียรติ

เปลี่ยนชีวิตให้อธิษฐานอย่างมีฤทธิ์เดชใน 30 วัน

คำแปลบทความเรื่องการอธิษฐาน

ในพระกายเดียวกัน
นพ.สุทิตต์ กุลสรรค์ศุภกิจ

เปลี่ยนชีวิตให้อธิษฐานอย่างมีฤทธิ์เดชใน 30 วัน

Whitney Hopler : editor note..The practical applications of Peter Lundell's new book, Prayer Power: 30 Days to a Stronger Connection with God, (Revell, 2009).

เวลาอธิษฐาน รับรู้ว่าพระเจ้าจะทรงฟัง และทรงตอบไหม หรือเป็นเพียงคำอธิษฐานในอากาศ

ลองสังเกตว่าเวลาใดท่านจึงอธิษฐาน ต้องมีอะไรกดดันท่านให้อธิษฐาน จึงจะอธิษฐานหรือ

พูดถึงเรื่องชีวิตอธิษฐานทีไร ถอดใจทุกทีหรือเปล่า

ถ้าการอธิษฐานของท่านขาดประสิทธิภาพ ท่านทราบหรือไม่ว่าจริงๆแล้วสามารถทำได้

การอธิษฐานทำได้ง่ายมากถ้าเราติดสนิทกับพระเจ้า และขอกำลังจากพระองค์สร้างชีวิตอธิษฐาน

1. พัฒนาความหิวกระหายในพระเจ้า

เราต้องขอพระเจ้าช่วยเหลือให้มีความต้องการพระองค์มากกว่าที่เคยมีมา ต้องการพระองค์มากกว่าสิ่งในหรือใครๆทั้งหมดในชีวิตของท่าน

ถ้าท่านมีความหิวกระหายพระเจ้า จะแสวงหาพระองค์อย่างเป็นธรรมชาติ และร้องทูลเป็นคำอธิษฐานถึงพระองค์

2. ปรารถนาเข้าใกล้ชิดกับระองค์

ความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้พระเจ้าเป็นความปรารถนาสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในชีวิต

เปลี่ยนอะไรก็ตามในชีวิตของเราเพื่อให้ชีวิตของเราสามารถเข้าใกล้พระเจ้า อธิษฐานกับพระองค์

สารภาพบาปเสมอ กลับใจจากบาปเสมอ จะทำให้ปรารถนาเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น และสร้างชีวิตด้านอื่นๆให้สัมพันธ์กับพระเจ้ามากขึ้นตามไปด้วย

3. แสวง และ ติดตามพระจ้าด้วยใจรัก

เอาชนะการรักตัวเอง เอาชนะสิ่งเร้าที่มาแบ่งแยกความตั้งใจในการพูดคุยกับพระองค์

ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น เพื่อเอาเวลามาอธิษฐานมากขึ้น

เวลาเจอกับปัญหาและความท้าทายใจ ให้ใช้เป็นโอกาสในการอธิษฐานกับพระองค์ และค้นหาน้ำพระทัยของพระเจ้าในเหตุการณ์นั้นๆ

ขอพระเจ้าทรงโปรดประทานความรัก ความปรารถนาดีในใจของท่าน เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงโปรดกับคนหรือเหตุการณ์เหล่านั้น

ขอพระเจ้าทรงโปรดให้เราเข้าใจน้ำพระทัยของพระองค์ และ เรียนรู้เปลี่ยนชีวิต ความคิดของเราให้คิดและปรารถนาเหมือนกับพระองค์มากขึ้นๆในเรื่องนั้นๆ

4. ติดเครื่องยนต์ฝ่ายวิญญาณที่ดับไป

เราอาจไม่ได้ต้องการอธิษฐานในบางเวลา โดยเฉพาะในเวลาที่เราตั้งไว้

การผลักดัน ต่อสู้กับตัวเองให้อธิษฐาน เป็นการสร้างนิสัยเอาชนะตัวเอง และให้การอธิษฐานมีชัยชนะในชีวิต ในเวลาอื่นๆเราก็จะมีชัยชนะในการอธิษฐานได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อเริ่มต้นอธิษฐาน ธรรมชาติชีวิตแห่งการอธิษฐานจะลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ

ไม่ว่าจะมีความสับสน วุ่นวาย ท้อแท้ใจเท่าใด กดทับชีวิตของเราจนอธิษฐานไม่ออก ให้เริ่มด้วยการอ่าน อ่านคำอธิษฐานของพระเยซู อ่านในเวลาที่ไม่รู้จะเริ่มอธิษฐานอย่างไร

ฟังเพลง สรรเสริญ นมัสการ

ใช้หัวข้อคำอธิษฐานที่เขียนไว้ก่อนหน้า เป็นสิ่งที่ช่วยนำการอธิษฐานของท่าน ให้มีทิศทางและมีเป้าหมาย กำลังในการอธิษฐานจะรื้อฟื้นกำลังขึ้นเป็นลำดับ

5. เพิ่มขีดความเชื่อขึ้น

เมื่อมีความท้อแท้ใจจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ อย่าให้ปัญหาหยุดการอธิษฐานของท่าน

เมื่อมีความไม่เข้าใจว่าอะไร ทำไม เกิดอะไรขึ้น จงวางใจในพระเจ้า

ร้องทูลต่อพระองค์ ขอความเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ก้าวผ่านความท้าทายไปให้ได้

6. ชำระชีวิตให้บริสุทธิ์

บาปที่ซ้อนเร้นในชีวิตจะเป็นอุปสรรคต่อการตอบคำอธิษฐาน ซึ่งพระเจ้าปรารถนาจะอวยพรให้ท่าน

บาปที่ซ้อนเร้นยังนำไปสู่ความวิปริตฝ่ายวิญญาณ อารมณ์ที่แปรปรวน และ ความเจ็บป่วยของร่างกาย

ชำระชีวิตจิตวิญญาณอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีบาปตกค้างอยู่ในชีวิต ยิ่งล้างบ่อยๆจะล้างออกง่ายกว่า

สารภาพบาปในทุกๆเรื่องที่ท่านรู้ และขอพระเจ้าทรงเปิดเผยบาปที่ซ่อนอยู่เพื่อท่านจะสามารถแก้ไขบาปเหล่านั้นด้วย

ยกโทษให้อภัยผู้อื่นอยู่เสมอ ขอพระเจ้าทรงให้เรามีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องและดีกับพระองค์และผู้อื่นอยู่เสมอ

7. ทูลเชิญพระเจ้าเข้ามาสร้างชีวิตภายในของท่าน

การเผชิญความยากลำบาปทำให้ท่านมีโอกาสอันดีที่จะเติบโตขึ้น หากท่านพัฒนาความไว้เชื่อวางใจว่าทุกสิ่งอยู่ในกระบวนการของพระเจ้า

อธิษฐานกับพระองค์ให้อุปสรรคปัญหาต่างๆเปลี่ยนชีวิตของท่านให้เป็นคนที่ดีพร้อม และมีลักษณะอย่างพระองค์มากขึ้น

อธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเยียวยา แก้ไข และเปลี่ยนชีวิตของท่านจากภายใน

8. สรรเสริญพระเจ้า

ตัดสินใจสรรเสริญพระเจ้าสำหรับสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น แม้ว่าในยามที่เราท้อแท้ทุกข์ยาก

ให้คำสรรเสริญเพิ่มความเชื่อของท่านขึ้น แทนการรับรู้แต่ความรู้สึกที่ทุกข์ยาก

เลือกที่จะสรรเสริญพระองค์ทุกๆวัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือปัญหาทั้งมวล

เมื่อคุณสรรเสริญพระเจ้า พระองค์จะตอบสนองต่อคำสรรเสริญของคุณ และ แปลเปลี่ยนชีวิตของคุณให้เป็นเหมือนสิ่งที่คุณสรรเสริญพระองค์

พระผู้ช่วยทรงเป็นผู้ที่จัดเตรียมทุกสิ่งเพื่อคุณ

9. ให้พระวิญญาณทรงนำ

เปิดใจของท่านต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ในขณะที่ท่านอธิษฐาน และตอบสนองต่อพระองค์ในทันที ให้พระวิญญาณทรงนำท่านในคำอธิษฐาน ให้ฤทธิ์เดชในการอธิษฐาน เชื่อมโยงจิตวิญญาณของท่านเข้ากับพระวิญญาณของพระองค์ในขณะที่ท่านอธิษฐาน

10. ดำเนินชีวิตอยู่ต่อหน้าพระพักตร์

ดำเนินชีวิตเหมือนมีพระเจ้าอยู่กับท่านตลอดเวลาในตลอดทั้งวัน

แม้ว่าในเวลาที่อยู่กับกิจกรรมตามธรรมดาโลก เช่น ทำความสะอาดบ้าน หรือ ในเวลาทำงาน

อธิษฐานในระหว่างกิจกรรมต่างๆได้ตลอดเวลา ทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติ์แต่พระเจ้า และของพระคุณพระองค์ที่พระองค์ทรงอยู่ด้วยกับท่าน

อธิษฐานสั้นๆในความปรารถนาที่ต้องการระหว่างวัน

หากท่านยุ่งกับงานมากเกินกว่าที่จะสนใจสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำรอบตัวท่าน ให้ ลดความเร่งรีบในกิจกรรมนั้นๆลง แล้วลองอธิษฐานสักครู่หนึ่ง จะทำตอบสนองต่อสิ่งต่างๆได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราต้องคิดอย่างที่พระเจ้าคิดในแต่ละช่วงเวลาของวัน อธิษฐานในระหว่างกิจกรรมต่างๆ เช่น ขณะรอรถ ขณะรอคน ขณะเดินทาง ฯลฯ

11. ฟังพระสุรเสียง

สงบใจนิ่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์เพื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์

ขอพระเจ้าทรงช่วยท่านให้มีความเต็มใจ อดทนรอคอย รับรู้ เรียนรู้จักฟังพระสุรเสียงของพระองค์ ที่มาเหนือความคิดจิตใจของตัวเองหรือของผู้อื่นหรือของมาร

ความเชื่อและวางใจในพระเจ้าจะนำการตอบสนองของคุณต่อพระองค์

เสียงที่ได้ยินในส่วนลึกของจิตใจของท่าน หรือสิ่งพระองค์ทรงสื่อสารกับท่านในทางหนึ่งทางใด ให้ตั้งใจฟังอย่างอย่างดี

12. อธิษฐานเปล่งเสียง

อธิษฐานจากสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของท่าน

เปล่งเสียงร้องทูลต่อพระเจ้า พระองค์ทรงพอพระทัยคำอธิษฐานที่มีมาถึงพระองค์เสมอ

13. อธิษฐานอย่างเจาะจง

ร้องทูลต่อพระองค์อย่างเจาะจงว่าท่านปรารถนาสิ่งใด หวังใจสิ่งใด ต้องการคำตอบเจาะจงในเรื่องใด

วางความปรารถนาของท่านไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า และเชื่อว่าพระองค์จะทรงให้ในสิ่งที่ดีที่สุด คาดหวังว่าพระองค์จะทรงตอบอย่างเจาะจง

14. อธิษฐานโดยพระคำ

หาข้อพระคัมภีร์ที่ตรงกับเหตุการณ์ สถานการณ์ของท่านในเวลานั้น และนำมาเป็นคำอธิษฐาน

การอธิษฐานโดยวิธีนี้ไม่เพียงเป็นการอธิษฐานโดยความต้องการของท่าน แต่เป็นการอธิษฐานตามพระสัญญาของพระองค์ด้วย

ท่านสามารถอธิษฐานโดยอ่านพระคำและยืนยันสิ่งที่อ่านว่าเป็นจริงตามนั้น

เสมือนหนึ่งว่าพระคำตอนนั้นเขียนมาถึงท่านโดยเฉพาะ

วางใจในพระเจ้าว่าพระองค์จะทรงกระทำตามพระสัญญาของพระองค์

15. อดอาหารอธิษฐาน

อธิษฐานแสดงออกในฝ่ายกายภาพอย่างจริงจัง เป็นการแสดงออกต่อพระเจ้าว่าท่านจริงจัง ท่านถ่อมใจต่อพระองค์ และ ยินดีแตกหักกับเนื้อหนังเพื่ออธิษฐานต่อพระองค์

16. อธิษฐานในสถานที่ที่เจาะจง

หาสถานที่ที่เหมาะกับการอธิษฐานได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถเพ่งความสนใจไปที่พระเจ้าได้จริงๆ ไม่ว่าเวลาใดก็ตามหากท่านมาที่นี่ท่านจะพร้อมที่จะอธิษฐานต่อพระองค์แน่นอน ให้สถานที่นั้นเป็นที่นัดพบของท่านกับพระองค์ หากต้องเดินทางไปที่อื่นๆ ให้มองหาสถานที่ที่จะอธิษฐานใช้เวลาพระองค์เสมอ เป็นที่ของท่านกับพระองค์

17. อธิษฐานในเวลาที่เจาะจง

ตั้งเวลาอธิษฐาน เป็นสิ่งแรกที่ทำในเวลาเช้า เป็น ideal หากเป็นไปได้ หรือในเวลาพักเที่ยง หรือ ก่อนนอน

กำหนดเวลาขั้นต่ำในการอธิษฐานแต่ละวัน วันละ........นาที ชั่วโมง

กันเวลาส่วนนี้ไว้เพื่อสามัคคีธรรมกับพระองค์จริงๆ เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์ชีวิตของท่านในเรื่องอื่นๆ

หลีกเลี่ยงกิจกรรมอื่นๆในเวลานั้นๆ เพื่อไม่พลาดการอธิษฐานกับพระองค์

18. อธิษฐานด้วยท่าทางที่สนับสนุน

การแสดงออกของร่างกายที่แสดงถึงความตั้งใจ จริงจัง จริงใจในการอธิษฐาน เช่น ยกมือ คุกเข่า มองไปยังสวรรค์ แสดงความรู้สึกที่ยำเกรงพระเจ้าผู้ที่เราอธิษฐานถึง

19. ใช้คู่มือช่วยอธิษฐาน

ช่วยให้อธิษฐานได้ต่อเนื่อง เป็นระบบระเบียบ ครอบคลุม

ในบางวันคุณอาจอธิษฐานโดยอัตโนมัติ และบางวันอาจใช้คู่มือที่มีหัวข้อคำอธิษฐานเผื่อสำหรับคนมากมาย หรือ เหตุการณ์ต่างๆ และเป็นการช่วยให้ท่านระลึกได้ว่าพระเจ้าตอบอะไรไปแล้วในอดีต

20. หยุดความสนใจจากสิ่งเร้าภายนอก

เพ่งความสนใจทั้งหมดไปที่พระเจ้าในขณะที่อธิษฐาน หากใจลอย ขอพระเจ้าให้ท่านจรดจ่อที่พระองค์ได้

เขียนความคิดที่แทรกขึ้นมาในระหว่างที่ท่านอธิษฐาน เพื่อคุณจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นทีหลัง ไม่คิดสิ่งนั้นๆในตอนที่อธิษฐาน

อธิษฐานเผื่อคนที่ระลึกถึงที่เกิดขึ้นในใจ

หากความคิดชั่วร้ายเกิดขึ้นในขณะอธิษฐาน และดึงความสนใจของท่านออกไป ให้ใช้ช่วงเวลานั้นสารภาพบาป เป็นส่วนหนึ่งในเวลาอธิษฐาน

21. หาเหตุผลของคำอธิษฐานที่ไม่ได้รับคำตอบ

หากพระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานที่ท่านร้องทูล อาจมีบางสิ่งที่กีดขวางคำตอบการอธิษฐาน เช่น

ท่านมีความเชื่อจริงๆไหมว่าพระเจ้าจะตอบ

ท่านสารภาพบาปแล้วหรือยัง

ท่านให้อภัยผู้อื่นแล้วหรือยัง

ท่านมีบาปแผลในใจที่ต้องเอาชนะหรือไม่

ท่านสงสารตัวเองหรือเปล่า

ท่านดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านอธิษฐานหรือเปล่า เช่นขอให้หายป่วย แต่ยังไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง อธิษฐานให้มีเพียงพอ แต่ยังก่อหนี้อยู่เรื่อยๆ และไม่เคยช่วยเหลือคนอื่น

ท่านอธิษฐานขอการอวยพรเพื่อตัวเอง หรือเพื่อสามารถแบ่งปันผู้อื่นให้ได้รับพระพรจากท่านด้วย

ท่านเปิดช่องว่างให้มารซาตานเข้ามาแทรกซึมในชีวิตของท่านหรือไม่

จงระลึกเสมอว่าพระเจ้าปรารถนาที่จะตอบคำอธิษฐานของลูกของพระองค์เสมอ เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสม ที่จะช่วยเหลือท่าน และเป็นประโยชน์แก่ท่านจริงๆ

พระองค์อาจกำลังตีสอนท่านสำหรับบางสิ่งอยู่ อาจกำลังสอนให้ท่านเข้าใจบางเรื่อง อาจกำลังทดสอบความเชื่อของท่านให้ท่านมีความเชื่อมากขึ้น หรือกำลังรอให้การแก้ไขที่เป็นไปได้ตามปกติวิสัยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ให้เราทูลถามพระองค์ถึงพระประสงค์ของพระองค์ที่ยังตอบคำขอของเรา

แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจว่าทำไม ให้เรายอมจำนนต่อน้ำพระทัยพระองค์และเรียนรู้จักวางใจพระองค์ ให้คำอธิษฐานที่ไมได้รับคำตอบนั้นเป็นพระพรให้ท่านแสวงหาพระองค์มากขึ้น

22. อธิษฐานแบบปล้ำสู้

เมื่อพบกับปัญหา ความยุ่งยาก และยังไม่ได้รับการตอบคำอธิษฐานจากพระองค์ ให้พยายามต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในการอธิษฐานปล้ำสู้ เหมือนยาโคบที่ไม่ปล่อยให้พระองค์จากไปโดยยังไม่อวยพรเขา

ในระหว่างเวลานั้น พระเจ้าอาจช่วยท่านให้เปลี่ยนใจให้ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าแทนการทำตามใจตัวเองก็ได้

23. อธิษฐานเหมือนเป็นทั้งนักวิ่งร้อยเมตรและนักวิ่งมาราธอน

การวิ่งบนถนนสายความเชื่อ บางครั้งต้องวิ่งอย่างรวดเร็ว อธิษฐานทันที ให้ทันเวลาและโอกาสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน

บางครั้งอาจต้องอธิษฐานยาวนานอย่างนักวิ่งมาราธอน แม้เหนื่อยสายตัวแทบขาดยังอธิษฐานต่อพระองค์ในเวลาที่ยังไม่มีคำตอบกลับมา เหมือนดาเนียลที่อธิษฐานอยู่นานถึง 21 วันกว่ามีคาเอลจะนำคำตอบมาให้ เพราะถูกเทพแห่งอาณาจักรเปอร์เซียขัดขวางเอาไว้

24. ขอต่อพระเจ้าอย่างต่อเนื่องกล้าหาญ

อธิษฐานกับพระอย่างสม่ำเสมอ กล้าร้องขอจากพระองค์ แม้ในสิ่งที่ดูเหมือนไม่เป็นเรื่อง แต่สำคัญสำหรับท่าน แทนที่จะคิดเอาเองว่าคงไม่ใช่น้ำพระทัย พระเจ้าคงไม่ตอบคำอธิษฐานแน่ๆ จงเคาะประตูสวรรค์เรื่อยๆ ดังๆ แรงๆ จนกว่าพระองค์จะตอบท่านในทางใดทางหนึ่ง ด้วยความรักมั่นคงอันเป็นพระลักษณะของพระองค์

25. เข้าสู่ส่งครามฝ่ายวิญญาณ

สงครามฝ่ายวิญญาณนั้นจำเป็นต้องต่อสู้ด้วยชีวิตฝ่ายวิญญาณ พระองค์ปรารถนาให้ท่านใช้สิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณในการต่อสู้กับมารร้าย

จงอธิษฐานกับพระเจ้าขอการปกป้องตัวท่านและให้กำลังแก่ท่านในการต่อสู้และเอาชนะในสงครามฝ่ายวิญญาณ

26. เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการอธิษฐาน

การอธิษฐานกับผู้เชื่อท่านอื่น เพียงอีกท่านเดียว และให้พระเจ้าทรงนำท่านในการอธิษฐานร่วมกัน คำอธิษฐานนั้นจะมีฤทธิ์เดชมากกว่าที่ท่านคาดคิด การอธิษฐานในน้ำพระทัยพระเจ้า เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนที่ท่านอธิษฐานอยู่ด้วย จงตั้งความคาดหวังในเวลาที่มีโอกาสอธิษฐานกันหลายๆคน พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐาน

27. รับใช้ผู้ที่ท่านอธิษฐานเผื่อ

พระเจ้าจะทรงแสดงให้ท่านเห็นถึงวิธีที่ชัดเจนที่ท่านจะรับใช้คนที่ท่านอธิษฐานเผื่อเขา

ท่านจะมีประสบการณ์ในความรักของพระเจ้าที่ทำการผ่านตัวท่าน

ยิ่งท่านรับใช้คนที่อธิษฐานเผื่อมากเท่าใด ท่านจะมียิ่งมีแรงจูงใจในการอธิษฐานเผื่อเขามากขึ้น

28. เขียนคำอธิษฐานที่ได้รับคำตอบ

การเขียนคำอธิษฐานที่ได้รับคำตอบ จะเป็นการตอกย้ำในจิตใจถึงฤทธิ์เดชของพระวิญญาณ คำเผยวจนะ และสิ่งอื่นๆที่ทำให้ท่านอธิษฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองเขียนขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ส่วนตัวของท่านเอง

29. ตั้งกลุ่มอธิษฐาน

รวบรวมเพื่อนๆของท่านให้อธิษฐานด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ หรือตั้งกลุ่มอธิษฐานอย่างเจาะจงสำหรับเรื่องเจาะจงบางเรื่อง

30. ขยายหลักหมุดเต็นท์การอธิษฐาน

ท่านสามารถพัฒนาชีวิตการอธิษฐานเพิ่มมากขึ้น หากท่านตั้งใจจะเป็นคริสเตียนผู้ติดตามพระคริสต์อย่างแท้จริง เข้ากลุ่มอธิษฐาน อธิษฐานกับเพื่อนบางคน ค้นหารูปแบบของตัวเองในการอธิษฐานที่จะพบกับพระเจ้าได้ง่ายๆ เพื่อท่านจะมีประสบการณ์ต่างๆในพระเจ้า ที่พระองค์จัดเตรียมไว้สำหรับท่าน

บัญญัติ2ข้อใหญ่

บัญญัติ2ข้อใหญ่
มธ. ๒๒.๓๔-๔๐
โดย อ.ธวัช เย็นใจ

คำนำ
พระคัมภีร์ตอนนี้เราเรียกว่า “พระบัญญัติสองข้อใหญ่” (มก. ๑๒.๒๘-๒๔) คริสเตียนทุกคนสามารถท่องจำได้อยู่แล้ว แต่จะทำตามได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
มีเรื่องเล่าว่าบริษัทแห่งหนึ่งมีกฎใหญ่อยู่ ๒ ข้อ ข้อที่หนึ่ง เจ้านายเป็นฝ่ายถูกในทุกรณี ข้อที่สอง เมื่อมีปัญหาใดๆเกิดขึ้นให้กลับไปดูใน

ข้อที่หนึ่งสะดูสีกับพระเยซู (๒๒.๒๓-๓๓)
เมื่อพระเยซูทรงเทศนาสั่งสอน มีศัตรูที่ปรากฏตัวอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ใช่ฆาตกรที่ชั่วร้ายที่ไหน แต่เป็นพวกนักศาสนาที่คิดว่าตนเองดีและบริสุทธิ์กว่าผู้อื่น คือฟาริสี สะดูสี ธรรมาจารย์ (หรือรับบี แปลว่าอาจารย์) พวกนี้ขี้อิจฉาตาร้อน ทำตัวเป็นไอ้เข้ขวางคลอง เป็นไม้เบื่อไม้เมา (ขมิ้นกับปูน)กับพระเยซู มีการปะทะคารมกันตลอดเวลา ( เหมือนกับการเมืองไทยขณะนี้แบ่งเป็นสองขั้ว จนผมต้องใส่เสื้อดำไว้ทุกข์ทุกวัน!)
นักศาสนาได้แยกแยะพระพระบัญญัติ(โทราห์)ออกเป็นหมวดหมู่มี ๖๐๐ ข้อ สำคัญมากและสำคัญน้อย
และพวกสาดูสี(ไม่เชื่อชีวิตหลังความตาย) ได้นำมาทดสอบพระเยซู เป็นการลองภูมิ เกี่ยวกับเรื่องเพศในสวรรค์ โดยเล่าเรื่องหญิงที่มีสามีเจ็ดคน(ทีละคน) และเมื่ออยู่ในสวรรค์เธอจะเป็นภรรยาของใคร? พระเยซูทรงตอบว่า “ชีวิตหลังความตายจะเป็นเหมือนทูตสวรรค์-คือไม่มีเพศ”
บทเรียน พระเยซูตรัส “พวกท่านผิดแล้ว, พวกท่านไม่รู้พระคัมภีร์, พวกท่านไม่รู้จักฤทธิ์ของพระเจ้า”
คริสเตียนทำอย่างไรที่จะไม่ผิด? คือต้องเรียนพระคัมภีร์แบบลึกซึ้ง(มิใช่แบบนกแก้วนกขุนทอง หรือเรียนเพื่อประความรู้)และต้องมีความเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้าอย่างเต็มที่
*สะดูสีเป็นพวกที่นับถือพระเจ้าแต่จิตใจปราศจากความรัก!

ฟาริสีกับพระเยซู (ข้อ ๓๔-๔๐)
ฟาริสี(เชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย)รู้สึกดีใจที่สะดูสีแพ้พระเยซู จึงรวมหัวกัน (ข้อ ๓๔)
ส่งอาจารย์ที่เก่ง “รอบรู้พระบัญญัติ” (เจ๋งที่สุด)มาทดสอบพระเยซู ในมัทธิวบทต่อมา(๒๓.๑-๓๖) พระองค์บอกถึงความประพฤติและนิสัยใจคอคนเหล่านี้
-ดีแต่สอน ตนเองไม่ทำ (๒๓.๑-๓)
-ชอบโอ้อวด แต่งตัวดูน่าเลื่อมใส ใส่เสื้อคลุม ประดับประดา ชอบนั่งในที่มีเกียรติ ชอบให้คนคำนับ กราบไหว้ พินอบพิเทา ชอบให้คนอื่นเรียกตนว่าอาจารย์, ศาสนาจารย์-รับบี (ข้อ ๗)
พระเยซูตรัสว่า “วิบัติ” (ข้อ ๑๓) ใช้คำนี้ ๗ ครั้งหมายถึง “ความหายนะ, ล่มจม, ไม่มีดี ภาษาชาวบ้านฉิบหายวายวอด เขาเป็นคนหน้าซื่อใจคด, เจ้าชาติงูร้าย, ชอบล้วงความลับของคนอื่น, ชอบหลอกถาม, ภาพของฟาริสีคืออุโมงค์ฝังศพที่ฉาบปูนขาว (ข้อ ๒๗)
*ฟาริสีเป็นพวกที่นับถือพระเจ้า แต่จิตใจไม่มีความรักและเมตตา!
มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งขับรถยนต์ยี่ห้อโรลสรอยด์ผ่านไปเห็นคนชายคนหนึ่งกำลังเด็ดหญ้า จึงบอกให้คนขับหยุดรถถามชายคนนั้นว่า “จะเอาหญ้าไปทำอะไร?”
ชายคนนั้นตอบว่า “จะเอาไปกินครับ”
เศรษฐีสงสารมากจึงบอกให้เขาขึ้นรถ เพื่อจะพาไปอยู่ด้วยที่คฤหาสน์
แต่เขาบอกว่า “ท่านครับ ผมยังมีภรรยาอีกคนหนึ่ง เธอกินหญ้าอยู่ด้านโน้น”
“ไปเรียกเธอมาขึ้นรถ” เศรษฐีบอก
แต่ชายยาจกก็พูดขึ้นอีกว่า “ท่านครับ ผมยังมีลูกอีกสามคน”
“ไปเรียกตัวมา” เศรษฐีว่า เมื่อทุกคนมาขึ้นรถแล้ว ขณะที่คนขับกำลังเคลื่อนรถออก ชายยาจนจึงยกมือไหว้และกล่าวขอบพระคุณที่มีคนใจบุญเอาครอบครัวของตนไปชุบเลี้ยง
เศรษฐีหันกลับมาพูดว่า “ไม่เป็นไร เพราะหญ้าที่บ้านเขียวและดีกว่ากว่านี้เยอะเลย หวังว่าพวกเธอจะชอบกินมากๆ”“???!!”

พระบัญญัติข้อใหญ่พระเยซูทรงสรุปจากพระบัญญัติสิบประการ และข้อปลีกย่อยของฟาริสี ๖๐๐ ข้อ ให้เหลือเพียง ๒ ข้อเท่านั้นคือหนึ่งรักพระเจ้า(agape) สองรักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง คริสเตียนเราต้องระวังที่จะไม่ทำกลับกัน คือรักตนเองก่อน แล้วค่อยรักคนอื่น จากนั้นถึงจะรักพระเจ้า!

รักพระเจ้า พระคัมภีร์ให้ภาพของคนที่รักพระเจ้าคือ โยบ “เป็นคนดีรอบคอบและเที่ยงธรรม เป็นผู้ที่เกรงกลังพระเจ้าและหันเสียจากความชั่วร้าย” (โยบ ๑.๑) เขานมัสการ สารภาพบาป เอาใจใส่พระเจ้าและครอบครัวตนเอง แต่ถูกซาตานทำลายด้วยการส่งคนเสบามาปล้น ฆ่าคนรับใช้ ทำให้ไฟไหม้บ้านและทรัพย์สมบัติ พายุพัดจนลูกสาวลูกชายตายหมด และให้โยบเป็นโรคร้าย(ฝีขึ้นทั้งตัว) อ่านโยบ ๑.๒๐-๒๒ แต่โยบยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และนมัสการพระเจ้า

รักเพือนบ้าน พระคัมภีร์ให้ภาพของคนที่รักเพื่อนบ้านคือ ชาวสะมาเรียใจดี (ลก. ๑๐.๒๕-๓๗) ชาวยิว(ถือว่าตนบริสุทธิ์)จะดูถูกและไม่คบหาสมาคมกับชาวสะมาเรีย(ถือว่าเป็นคนบาป) มีคนถูกปล้นนอนที่กลางถนน ปุโรหิตมาพบเดินเลี่ยงไปเสีย เลวีก็เช่นกันเดียว แต่ชาวสะมาเรียกลับมี “ใจเมตตา” (passion) เข้ามาพันแผล ใส่น้ำมัน(ยา)และเหล้าองุ่น แล้วให้ขี้ลาของตน ไปพักที่โรงแรม และจ่ายค่ายาและที่พักด้วย เขากำชับอีกว่า “ถ้าไม่พอขากลับมาจะจ่ายให้อีก”

มาระโก ๑๒.๓๐ ความรัก - สิ้นสุดใจ คือออกมาจากอารมณ์และความรู้สึก
- สิ้นสุดจิต คือ ออกมาจากจิตวิญญาณ
- สิ้นสุดความคิด คือออกมาจากสมองและสติปัญญา
- สิ้นสุดกำลัง คือ ออกมาจากกาย ลงมือกระทำ
๑ คร. ๑๓.๔-๗ บทเพลงแห่งความรัก
L – Long (suffering long) ความรักนั้นก็อดทนนาน
O – OK ไม่มีปัญหา
V – Victory มีชัยชนะ
E – Excellence ยอดเยี่ยมที่สุด

สรุป
ความรักไม่มีข้อแม้และไม่มีเงื่อนไข Martin D. Han กล่าวถึงคนที่ไม่น่ารัก และจะรักคนเหล่านี้ได้อย่างไร?
- คนชอบบงการ เจ้ากี้เจ้าการ ยุ่งในทุกเรื่อง
- คนชอบดูถูกคนอื่น
- คนชอบปรับเปลี่ยน อะไรก็ไม่ถูกใจ
- คนชอบพูดในแง่ลบ
- คนชอบก่อกวน สร้างปัญหาในทุกเรื่อง
- คนชอบตำหนิติเตียน
- คนขี้น้อยใจ ฉุนเฉียว ขี้โมโห
- คนอะลุ่มอล่วย ไม่เป็นไร
- คนลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ
- คนขี้โอ่ โอ้อวด ฉันดีกว่า
- คนขี้เกียจ เฉื่อยแฉะ ชอบอยู่เฉยๆ
- คนแกล้งถ่อมใจ (คนเย่อหยิ่ง)
- คนชอบล้อเลียน เยาะเย้ย ชอบแซว
- คนที่ไม่น่ารัก

ในหนังสือเฝ้าเดี่ยวมานาประจำวันเล่าเร่องตำรวจไล่จับรถคันหนึ่งในอเมริกา ผู้หญิงขับรถไล่จี้ก้นคันอื่นและบีบแตรเสียงดังสนั่น แสดงถึงอารมณ์ฉุนเฉียวที่ตกค้างมาจากบ้าน ตำรวจได้หยุดรถของเธอและขอดูใบอนุญาตและทะเบียน เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดี แล้วตำรวจก็กล่าวคำขอโทษเธอว่า “ผมเข้าใจผิด เพราะที่กระจกหลังรถของคุณเขียนว่า What wood Jesus do? (พระเยซูจะทำอะไร?) ถัดลงมาเขียนว่า Come to Sunday school (มาเรียนรวีวารศึกษา) ผมคิดว่าเป็นรถที่ขโมยเขามา”

ขอพระเจ้าอวยพร

ขอบคุณครับ
ทีมงานไทยเซอร์มอน

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

เครื่องบูชาที่มีชีวิต

เครื่องบูชาที่มีชีวิต

"พี่น้อง ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์ และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ซึ่งเป็นการนมัสการโดยวิญญาณจิตของท่านทั้งหลาย" (โรม 12:1)

พระวจนะของพระเจ้าตอนนี้ ได้พูดถึง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ร่างกาย การถวาย และเครื่องบูชาที่มีชีวิต ทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องที่เราสมควรมาศึกษาร่วมกัน โดยจะขอเรียงจากเรื่องสุดท้ายก่อน


เครื่องบูชาที่มีชีวิต
เครื่องบูชาที่มีชีวิต หมายความว่า ให้เราถวายร่างกายของเราให้แก่พระเจ้า เพื่อที่เราจะดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้า สำแดงพระเจ้า เป็นพยาน กระทำพันธกิจของพระเจ้า นี่เป็นเงื่อนไขที่พระเจ้าได้เรียกร้อง เป็นพื้นฐานของคริสตชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกินกำลังของเรา

ตัวอย่างที่ดีสำหรับเครื่องบูชาที่มีชีวิต จะเห็นได้จากพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะพวกนาศีร์ ซึ่งเป็นชนชาติอิสราเอล ที่เขารวมกลุ่มกัน เพื่อจะถวายชีวิตตนเองเพื่อพระเจ้า

นาศีร์ หมายความว่า ถวายแด่พระเจ้าทั้งหมด พวกเขาจะถวายแด่พระเจ้าทั้งชีวิต ดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้าอย่างเข้มงวด ตัวอย่างของนาศีร์ ได้แก่ แซมสัน และซามูเอล จนมาถึงในพระคัมภีร์ใหม่ ก็คือ ยอห์นผู้ให้บัพติสมา พวกนาศีร์จะมีชีวิตที่เป็นพยานที่ดี จะสำแดงชีวิตให้คนทัั้งหลายได้เห็นว่าเขาเป็นคนของพระเจ้า


แซมสัน เป็นพวกนาศีร์ เขาควรที่จะดำเนินชีวิตตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า แต่น่าเสียดายที่เขาทำไม่ได้ เขาได้ล้มเหลว พ่ายแพ้การทดลอง แต่ขอบคุณพระเจ้า ในตอนสุดท้ายของชีวิตท่าน ท่านได้กลับใจใหม่ ท่านตระหนักดีว่าท่านไม่สามารถดำเนินชีวิตตามแบบของนาศีร์ได้ ท่านก็ยินดีที่จะถวายชีวิต ยอมตายเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ยอมตายเพื่อกำจัดศัตรูของชนชาติของพระองค์

ซามูเอล เป็นผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าทรงใช้ ชีวิตท่านเป็นพรแก่ชนชาติอิสราเอลหลาย ๆ ด้าน

ยอห์นผู้ให้บัพติสมา ก็เช่นกัน ท่านเป็นผู้ที่เบิกทางให้พระเยซูคริสต์เจ้า


ชีวิตของนาศีร์ เป็นตัวอย่างที่ดีของเครื่องบูชาที่มีชีวิตอยู่ ที่ใช้ชีวิตเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เราคริสเตียนทุกคน ก็ควรจะมีสถานะแบบพวกนาศีร์ ดำเนินชีวิตตามพระดำรัสสั่งของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน ทำพันธกิจของพระเจ้าดังที่พระองค์ได้ทรงมอบหมายแก่เรา เพื่อที่ชีวิตเราที่ดำเนินอยู่ในโลกนี้ จะสำแดงองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราให้คนทั้งหลายได้เห็น


การถวาย
การถวายในพระคัมภีร์เดิม คือ การนำสิ่งที่จะถวายนั้น วางไว้บนแท่นบูชา เราทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต เราก็ควรที่จะนำชีวิตของเราวางไว้บนแท่นบูชาด้วย

แท่นบูชาอยู่ในวิหารของพระเจ้า เป็นสถานที่บริสุทธิ์ เป็นพลับพลาของพระเจ้าบนโลกนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายสามารถมองเห็นได้ อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าที่หน้าแท่นบูชา สิ่ง เหล่านี้บอกว่า ชีวิตของเรา ซึ่งเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ และเราก็อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน เราจะต้องตระหนักเสมอว่า ชีวิตเราจะต้องดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง เพราะว่ามนุษย์ได้มองเห็น และขณะเดียวกัน พระเจ้าก็ทรงทอดพระเนตรดูชีวิตของเราด้วย

แต่ขณะเดียวกัน ซาตานก็พยายามที่จะขัดขวาง ทำร้ายเรา ทดลองเรา เพราะมันก็เห็นชีิวิตของเราเหมือนกัน มันเห็นข้อบกพร่องของเรา ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้ดี

การถวายทรัพย์สินเงินทองนั้น เมื่อถวายไปแล้ว ดูเหมือนเราจะขาด เราจะสูญเสีย ถ้าเราไม่เข้าใจสัจธรรมที่แท้จริงแล้ว เราก็จะเข้าใจไม่ถูกต้อง แต่ขอที่เราจะทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว คน ที่ถวายชีวิตให้แก่พระเจ้า แท้ที่จริงจะได้รับอิสรภาพที่แท้จริง เขาจะปลอดภัยในพระเจ้า ได้รับการปกป้องจากพระเจ้า และได้รับการอวยพรจากพระเจ้าอย่างมากมาย เช่นเดียวกับการที่ถวายสิบลด แท้จริงเราก็ไม่ได้ขาดในสิ่งใดเลย เพราะว่าเรายังเหลืออีก 9 ส่วน แล้วแถมเราจะได้รับพระพรอีกมากมายที่มาจากพระเจ้า ซึ่งเมื่อเปรียบกับทั้ง 10 ส่วนที่เรามี พรของพระเจ้ามากมายมหาศาลกว่านั้นมากนัก

นี่เป็นสิ่งที่ไพบูลย์ที่ พระเจ้าทรงมอบให้แก่เรา ดังที่พระธรรมมาลาคีได้บอกแก่เรา การถวายมิได้ทำให้เราถูกจำกัดหรือถูกผูกมัด แต่แท้ที่จริงกลับทำให้เราได้รับอิสรภาพ


ร่างกาย
เราเป็นมนุษย์ที่มีร่างกาย มีชีวิตอยู่

ในพระธรรมตอนนี้ ไม่ได้เรียกร้องให้เราถวายสิ่งของ แต่ให้เราถวายร่างกาย ให้เราถวายชีวิต ซึ่งก็หมายความว่าเราจะต้องถวายทุกสิ่งที่เรามี ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเราด้วย ด้วยเหตุนี้ พระ คัมภีร์จึงให้เราถวายร่างกายของเราแด่พระเจ้า ซึ่งก็คือ ให้เราถวายสิ่งที่สำคัญที่สุดของเรา นั่นคือตัวเรานั่นเอง ให้แด่พระองค์ รวมถึงร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ทั้งสามสิ่งรวมกัน ร่างกายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าร่างกายของเราไม่มีชีวิต เราก็จะทำอะไรไม่ได้

ขอบคุณพระเจ้า ที่พระเจ้ายังให้ร่างกายของเรา ให้เรายังมีชีวิตอยู่ เราจึงควรที่จะกล่าวกับพระเจ้าว่า "ข้าพระองค์พร้อมที่จะถวายร่างกายทั้งสิ้น เป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์ ขอพระเจ้าทรงใช้" ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่เราจะฉวยโอกาส ที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้ ที่จะถวายร่างกายแด่พระเจ้า




ศจ. จำนง พิริยะพงษ์รัตน์

สรุปคำเทศนาโบสถ์จีน คำแบ่งปันคณะเพื่อคุณ คริสตจักรสะพานเหลือง

เมื่อวันที่ 01/03/2009


เรื่อง เครื่องบูชาที่มีชีวิต

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

การรักษาบาดแผลฝ่ายวิญญาณ‏

<พระธรรมประจำวัน> การรักษาบาดแผลฝ่ายวิญญาณ‏

พวกเราส่วนใหญ่ คงจะเคยเรียนรู้เกี่ยวกับฤทธิ์เดชการรักษาโรคฝ่ายกายของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่วันนี้จะมาเรียนรู้ด้วยกันถึงโรคทางฝ่ายวิญญาณ


"พระองค์ตรัส ว่า 'ถ้าเจ้าทั้งหลายฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าของเจ้า และกระทำสิ่งที่ชอบในสายพระเนตรของพระองค์ เงี่ยหูฟังพระบัญญัติของพระองค์ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ทุกประการ แล้วโรคต่างๆ ซึ่งเราบันดาลให้เกิดแก่ชาวอียิปต์นั้น เราจะไม่ให้บังเกิดแก่พวกเจ้าเลย เพราะเราคือพระเจ้า แพทย์ของเจ้า' " (อพยพ 15:26)



"And said, If thou wilt diligently hearken to the voice of the LORD thy God, and wilt do that which is right in his sight, and wilt give ear to his commandments, and keep all his statutes, I will put none of these diseases upon thee, which I have brought upon the Egyptians: for I am the LORD that healeth thee." (Exodus 15:26 KJV)


พระเจ้าเป็นแพทย์ผู้ประเสริฐ พระเจ้าต้องการรักษาเรา ไม่เพียงแค่โรคทางฝ่ายกาย แต่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะรักษาโรคของเราทั้งฝ่ายกาย ฝ่ายจิตใจ และฝ่ายวิญญาณ


"4 แน่ทีเดียว ท่านได้แบกความเจ็บไข้ของเราทั้งหลาย และหอบความเจ็บปวดของเราไป กระนั้นเราทั้งหลายก็ยังถือว่าท่านถูกตี คือ พระเจ้าทรงโบยตี และข่มใจ
5 แต่ท่านถูกบาดเจ็บ เพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำ เพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้น ตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี" (อิสยาห์ 53:4-5)



"4 Surely he hath borne our griefs, and carried our sorrows: yet we did esteem him stricken, smitten of God, and afflicted.
5 But he was wounded for our transgressions, he was bruised for our iniquities: the chastisement of our peace was upon him; and with his stripes we are healed." (Isaiah 53:4-5 KJV)


จากพระคัมภีร์ตอนนี้ ในภาษาอังกฤษ จะใช้คำต่าง ๆ ดังนี้


"ความเจ็บไข้" ใช้คำว่า "Infirmities" แปลว่า "ไม่สมบูรณ์ ไม่มั่นคง ความอ่อนแอ ทุพพลภาพ"

"ความเจ็บปวด" ใช้คำว่า "Sorrows" แปลว่า "ความโศกเศร้า เป็นทุกข์ เสียใจ"

"ความผิดบาป" ใช้คำว่า "Iniquities" แปลว่า "ไร้ศีลธรรม การกระทำที่ชั่วร้าย ไม่ยุติธรรม"

"ให้เราทั้งหลายสมบูรณ์" ใช้คำว่า "Brought us peace" แปลว่า "นำมาซึ่งสันติสุข สันติภาพ"

และคำว่า "ให้เราหายดี" ใช้คำว่า "Healed"



เวลาเราเป็นโรคฝ่ายกาย เราปกป้องตัวเอง เช่น เป็นแผลที่เท้า เราก็จะเดินอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ใครมาเหยียบ ซึ่งนี่เป็นกลไกการป้องกันตัวเอง เช่นเดียวกัน ตามธรรมชาติของเรา เมื่อเรามีบาดแผลฝ่ายวิญญาณ เราก็จะปกป้องตัวเอง

การรักษาเป็นส่วนหนึ่งของการงานที่กางเขน


"พระองค์เอง ได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายจากบาปได้ และดำเนินชีวิตตามคลองธรรม ด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย" (1เปโตร 2:24)


โรคทางกายบางอย่าง ที่คริสเตียนยังมีอยู่ เป็นสิ่งที่พระเจ้าต้องการเตือน ว่าเรายังคงมีความผิดปกติอะไรอยู่ ที่เรายังไม่ยอมที่จะรับการแก้ไข ยังมีบาดแผลที่ซ่อนอยู่ จึงปรากฎออกมาเป็นโรคทางกาย พระองค์ทรงต้องการที่จะให้เรายอมให้พระองค์ทรงรักษา และถ้าเราไม่เข้าใจ โรคของเราก็จะคงอยู่


"ความบาปและความ เจ็บป่วยเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดตลอดทั่วทั้งพระคัมภีร์ เราได้รับการไถ่จากความบาปและความป่วยไข้โดยผ่านพระโลหิตที่หลั่งออกมาและ ผ่านบาดแผลที่แบกรับโดยพระเยซู" (Healing the Sick, by T.L. Osborn, 2006)




"2 จิตใจของข้าเอ๋ย จงถวายสาธุการแด่พระเจ้า และอย่าลืมพระราชกิจอันมีพระคุณทั้งสิ้นของพระองค์
3 ผู้ทรงอภัยความบาปผิดทั้งสิ้นของท่าน ผู้ทรงรักษาโรคทั้งสิ้นของท่าน" (สดุดี 103:2-3)


พระเจ้าทรงยกโทษบาปเมื่อเราสารภาพ แต่ไม่ใช่เพียงความบาปเท่านั้นที่เกิดขึ้น ความบาปเหล่านั้นทำให้เกิดบาดแผลขึ้นด้วย ขอบคุณพระเจ้า โดยฤทธิ์เดชของกางเขน (Power of the Cross) พระเยซูคริสต์เจ้าได้ทรงยกโทษบาป และทรงรักษาบาดแผลด้วย




บาดแผลในจิตวิญญาณ
เป็นความเจ็บป่วยที่มีผลกระทบต่อชีวิตมาก ผู้ป่วยเป็นมะเร็งน้อยรายมากที่จะคิดฆ่าตัวตาย แต่คนที่อกหัก กลับฆ่าตัวตายเป็นอันมาก นี่เป็นเพราะบาดแผลฝ่ายวิญญาณมีผลกระทบต่อชีิวิตอย่างมาก


"จิตใจของคนจะทนต่อความเจ็บป่วยได้ แต่จิตใจที่ชอกช้ำใครจะทนได้เล่า" (สุภาษิต 18:14)


ต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการรักษา เพราะมนุษย์ไม่สามารถรักษาได้ มีเพียงพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่จะสามารถรักษาได้


"12 เพราะพระเจ้าตรัสดังนี้ว่า 'ที่เจ็บของเจ้าก็ร้าย และบาดแผลของเจ้าก็ฉกรรจ์
13 ไม่มีผู้ใดที่จะช่วยคดีของเจ้า ไม่มียารักษาบาดแผลของเจ้า ไม่มีการรักษาให้เจ้า' " (เยเรมีย์ 30:12-13)



"เพราะเราจะ เรียกเนื้อขึ้นมาให้แก่เจ้า และเราจะรักษาบาดแผลของเจ้าให้หาย พระเจ้าตรัส เพราะเขาทั้งหลายเรียกเจ้าว่าพวกนอกคอก 'คือ ศิโยนซึ่งไม่มีใครต้องการ' " (เยเรมีย์ 30:17)





ที่มาของบาดแผล
สาเหตุของบาดแผล คือ ท่าที ถ้อยคำและการกระทำหรือพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ ที่ทำให้รู้สึกว่า ถูกปฏิเสธ ไม่ยุติธรรม ถูกล่วงละเมิด

ผู้ที่ทำให้เกิดแผล มีบางคนจะเรียกคนกลุ่มนี้อย่างรุนแรงว่า "ผู้เผยพระวจนะเท็จ" เนื่องจากส่วนใหญ่ คำพูดที่ทำให้เกิดแผล มักจะเกิดจากความเท็จ อาจจะเป็นคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง ครู เพื่อนฝูง หรือเพื่อนบ้าน สื่อต่าง ๆ ถ้าเรารับสิ่งเหล่านี้เข้ามา ก็จะเกิดบาดแผล

คนส่วนใหญ่ที่มีแผล จะเกิดจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้ที่จะทำให้ลูกเกิดแผลมากที่สุด เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ จะไม่สนใจความต้องการพื้นฐานของลูก เช่น พ่อแม่มักจะไม่แสดงความรักแก่ลูก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูก ๆ ต้องการมาก มักจะด่าต่อหน้า แต่กลับไปชมลับหลัง

ความต้องการพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของลูก ได้แก่


ได้รับความรักที่แสดงออกอย่างไม่มีเงื่อนไข
รู้สึกอบอุ่นและมั่นคงปลอดภัย
ได้รับการชมเชย การยอมรับ และให้กำลังใจ
มีเป้าหมายชีวิต




บาดแผลที่เกิดจากพ่อแม่
บาดแผลที่เกิดจากพ่อ


พ่อที่ดี ทำให้เกิดแผลได้ เพราะว่าอาจจะดีเกินไป จนทำให้ลูกหาชายที่ดีเหมือนพ่อไม่ได้ จึงทำให้ลูกสาวอาจไม่ได้แต่งงาน และรู้สึกว่าติดพ่อ


พ่อที่ผลักดันให้ลูกมีผลงาน คาดหวังให้ลูกเรียนได้คะแนนดี ๆ


พ่อที่เฉีื่อยชา ซึ่งผิดจากบทบาทที่ควรจะเป็น แม่จะเป็นผู้ที่ให้ความรักความอบอุ่น แต่พ่อควรจะเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่าง เป็นผู้นำ เป็นฮีโร่


พ่อที่ไม่อยู่ด้วย เป็นปัญหาเช่นกัน อาจทำให้ลูกชายกลายเป็นเกย์ได้


พ่อที่เคร่งวินัย ลูกจะอยู่ด้วยความเครียด กดดันมานาน


พ่อที่ละเมิด เช่นพ่อที่ละเมิดลูกทางเพศ หรืออาจจะทางกาย



ภาพของพ่อ อาจทำให้ภาพที่เรามองพระเจ้าบิดเบือนไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น ถ้าหากพ่อเราเคร่งวินัย เราก็จะมองว่าพระเจ้าคงจะเป็นเช่นกัน

บาดแผลที่เกิดจากแม่ ที่สำคัญ คือ การไม่ได้รับความรักจากแม่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งสามารถทิ้งบาดแผลไว้ในใจของเด็กชั่วชีวิต (แจ๊ค ฟรอสท์, 2006)

ตัวอย่างบาดแผลที่ทำให้เกิดบาดแผล เช่น พ่อแม่ไม่ตั้งใจให้เกิด ไม่แสดงความรักความอบอุ่น ถุูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรม ให้คนอื่นเลี้ยง เลี้ยงลูกอย่างลำเอียง ถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นภาระหรือไม่เป็นที่ต้องการ ผลงานไม่ได้รับการยอมรับ คู่ครองขอหย่า แฟนบอกเลิก เจ้านายให้ออกจากงาน เพื่อนไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม ถูกเข้าใจผิด ถูกลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม ขัดแย้งกับคนอื่น เป็นต้น




รู้ได้อย่างไรว่ามีแผลในจิตวิญญาณ ?
บุคลิกภาพที่เป็นปัญหา อาจทำให้เรารู้ว่ามีแผลได้ แม้ว่าเราจะไม่เห็นบาดแผลเขาโดยตรง เหมือนเช่น คนที่ขาหัก เราอาจไม่เห็นขาที่หักของเขา แต่เรารู้ได้ว่าเขาขาหักก็โดยการที่เขาเดินผิดปกติ ใส่เฝือก ใช้ไม่เท้า ฯลฯ [ในพระคัมภีร์ คำว่า ใจ (heart) มาจากภาษาฮีบรูว่า "leb" และ "lebab" และภาษากรีกว่า "kardia" คำเหล่านี้ได้ถูกใช้หลายครั้งด้วยกัน โดย 204 ครั้งหมายถึง "จิตใจ" (mind), 195 ครั้งหมายถึง "ความตั้งใจ" (will), 166 ครั้งหมายถึง "อารมณ์" (emotion), และ 257 ครั้ง ซึ่งมากที่สุด จะหมายถึง "บุคลิกภาพ (personality)]

พฤติกรรม ความรู้สึก (อารมณ์) หรือทัศนคติที่เป็นปัญหา เช่น


พวกยอมตาม กลัว เศร้า สงสาร กล่าวโทษหรือเกลียดตัวเอง ซึมเศร้าจนถึงมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย
พวกก้าวร้าว โกรธ เกลียด หึงหวง อิจฉา พิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวโทษคนอื่น มีพฤติกรรมรุนแรงต่อคนใกล้ชิด

ความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหา เช่น เก็บตัว เข้าสังคมหรือเข้ากับบางคนไม่ได้ มักทะเลาะกับบางคนเสมอ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่

ความเจ็บป่วยทางกาย หลายครั้งพระเจ้าไม่ได้รักษาโรคฝ่ายวิญญาณ เพื่อต้องการให้เรารู้ตัวว่าเรามีบาดแผลฝ่ายวิญญาณอยู่ เพราะโรคทางกายบางอย่างมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติฝ่ายวิญญาณ ดังนั้น เมื่อเราเป็นโรคอะไรขึ้นมา ขอที่เราจะมีโอกาสที่จะอธิษฐานทูลถามต่อพระเจ้าโดยตรงเลย ว่าเรายังความผิดปกติอะไรอยู่ ที่ทำให้เราเกิดโรคขึ้นมา


"ใจที่ยินดีกระทำให้ใบหน้าร่าเริง แต่โดยความเสียใจดวงจิตก็สลายลง" (สุภาษิต 15:13)



"ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี แต่จิตใจที่หมดมานะทำให้กระดูกแห้ง" (สุภาษิต 17:22)


ความทรงจำที่เป็นปัญหา

ความฝันซ้ำ ๆ




ทำไมที่ผ่านมา บาดแผลนี้จึงไม่เคยได้รับการรักษา ?
คำตอบก็คือ เพราะเราจัดการกับมันด้วยวิธีการที่ผิด เช่น


ปฏิเสธมัน เช่น บอกว่า "ฉันไม่มีปัญหา"
โยนมันให้กับคนอื่น เช่น บอกว่า "เพราะว่า ... ฉันถึงเป็นอย่างนี้"
ฝังไว้ในความพึงพอใจ เป็นพวกที่ชอบเก็บแผลไว้คลึงหรือเกาเล่น

การที่เราเรียนรู้เรื่อง บาดแผลฝ่ายวิญญาณ ก็เพื่อที่จะให้เรายอมร่วมมือกับพระเจ้าในการรักษาบาดแผลเหล่านั้นให้หาย โดยพระเจ้าทรงมีเวลาให้แก่เราเสมอ และสำหรับแต่ละบาดแผล พระเจ้าจะทรงมีเวลาที่เหมาะสมที่จะรักษาเรา




ขั้นตอนการรักษาแผล
ขั้นตอนการรักษาแผล เป็นกระบวนการที่เรียนรู้ได้โดยการศึกษาจากการรักษาบาดแผลทางกาย

1. เปิดแผล คือ การรับรู้ว่ามีแผล และเชื่อว่าพระเจ้าทรงรักษาได้ หลายครั้งเราเชื่อว่าพระเจ้ายกโทษบาปได้ แต่ไม่เชื่อว่าพระเจ้าสามารถรักษาเราได้ ซึ่งนี้เป็นความเข้าใจผิด ในขั้นตอนนี้ เราควรที่จะสารภาพ (confessing) โดยสารภาพบาป และสารภาพด้วยว่าเรามีแผล


"9 คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด
10 ด้วยว่า ความเชื่อด้วยใจก็นำไปสู่ความชอบธรรม และการยอมรับสัจจะของพระเจ้าด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด" (โรม 10:9-10)



การปฏิบัติ คือ ให้เราใช้เวลากับพระเจ้า ทูลขอให้พระองค์เปิดเผยบาดแผลหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผล และเชื่อวางใจพระเจ้าในการรักษาบาดแผล และเราต้องตระหนักว่า การรักษานั้น เป็นมาจากพระเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่มาจากเทคนิคของมนุษย์


"Healing is the work and function of the Holy Spirit, so it's important to be led by Him and not just by someone's technique" (Wall of my Heart, by Dr.Bruce Thompson)



2. การล้างแผล เป็นการที่เราปรารถนาที่จะรับการรักษาให้หาย ซึ่งได้แก่ การกลับใจใหม่ (repentance)


"บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์" (มัทธิว 5:6)



การปฏิบัติ ให้เราบอกพระเจ้าว่าเราต้องการจะหายจริง ๆ เรารู้ว่าแผลนี้ขัดขวางเราไม่ให้เติบโต ไม่ให้เป็นเหมือนพระคริสต์ และเราอยากเปลี่ยนแปลง


"22 ท่านจงทิ้งตัวเก่าของท่าน ซึ่งคู่กับวิถีชีวิตเดิมนั้นเสีย อันจะเสื่อมเสียไปสู่ความตายตามตัณหา อันเป็นที่หลอกลวง
23 และจงให้วิญญาณจิตของท่านเปลี่ยนใหม่
24 และขอให้ท่านสวมสภาพใหม่ ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างของพระเจ้า ในความชอบธรรม และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง" (เอเฟซัส 4:22-24)




3. การกำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งได้แก่ รากขมขื่น การไม่ให้อภัย สิ่งเหล่านี้เราต้องกำจัดออก ด้วยการให้อภัย (forgiving) ซึ่งเคล็ดลับของการให้อภัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเรื่องที่เกิด ไม่ได้เกิดขึ้นกับความเลวร้ายที่เราได้ประสบ แต่อยู่ที่การตัดสินใจของเรา


พระคัมภีร์ มัทธิว 18:23-35 เรื่อง ทาสที่ไม่ยอมให้อภัย เป็นคำอุปมาที่กล่าวถึงเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งยกหนี้ให้แก่ทาสที่ติดหนี้อยู่ แต่ลูกหนี้คนนี้กลับไม่ยอมยกหนี้แก่ผู้ที่ติดหนี้เขาอยู่ ทั้ง ๆ ที่ติดหนี้เพียงเล็กน้อยกว่าที่เขาติดหนี้เจ้าองค์นั้นมาก เมื่อเจ้าองค์นั้นทราบเรื่อง จึงโกรธอย่างมาก และจับทาสคนนั้นมาลงโทษ

จากพระคัมภีร์ตอนนี้เอง ชี้ให้ว่า การที่เจ้าองค์นี้ให้อภัยนั้น เกิดจากที่ท่าน "มีพระทัยเมตตา" (เป็นการตัดสินใจ และกระทำบางสิ่งบางอย่าง) "โปรดยกหนี้" และ "ปล่อยตัว"

นอกจากนี้ พระคัมภีร์ตอนนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การ ให้อภัย เป็นไปตามหลักการของการหว่านและเก็บเกี่ยว คือถ้าเราให้อภัย พระเจ้าก็ทรงให้อภัยเราด้วย แต่ถ้าเราไม่ให้อภัย เราก็จะผิดต่อพระเจ้า ดังนั้น การให้อภัย ไม่ใช่เรื่องระหว่างเรากับคู่กรณี แต่เกี่ยวข้องกับเรากับพระเจ้า ถ้าเราไม่ให้อภัยกับคู่กรณี เขาก็ไม่เดือดร้อน แต่ผู้ที่เดือดร้อน คือเราเอง


"และท่านจง เมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กัน เหมือนดังที่พระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้แก่ท่านในพระคริสต์นั้น" (เอเฟซัส 4:32)



"26 จะโกรธก็โกรธได้ แต่อย่าทำบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่
27 และอย่าให้โอกาสแก่มาร" (เอเฟซัส 4:26-27)


พระคัมภีร์บอกว่า อย่าให้โอกาสแก่มาร ซึ่งโอกาสในที่นี้ใช้คำว่า "Foothold" (ที่มั่น) นั่นหมายความว่า ถ้า เรายังมีจิตใจที่ไม่ให้อภัย ยังมีความบาปบางอย่างที่เรายังทำเรื่อย ๆ นั่นก็จะเป็นที่มั่นให้แก่มาร เป็นจุดที่มารจะโจมตีเราได้ เราจึงควรทำลายที่มั่นนี้เสีย

วิธีปฏิบัติ คือ อธิษฐานออกเสียง ยกโทษให้คนที่ทำให้เราเจ็บ มีแผล



4. ใส่ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งได้แก่ พึ่งพากางเขนของพระเยซู


"เขาเหล่า นั้นชนะพญามารด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก และเพราะคำพยานของพวกเขาเอง เพราะเขาไม่ได้เสียดายที่จะพลีชีพของตน" (วิวรณ์ 12:11)



"กิตติศัพท์ ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทั่วประเทศซีเรีย เขาจึงพาคนป่วยเป็นโรคต่างๆ คนที่ทนทุกข์เวทนา คนผีเข้า คนเป็นลมบ้าหมู และคนเป็นอัมพาตมาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงรักษาเขาให้หาย" (มัทธิว 4:24)



การปฏิบัติ คือ พึ่งพระโลหิตพระเยซู และใช้พระวจนะของพระเจ้าในการปกป้องตัวเอง และต่อสู้กับมาร



5. เย็บแผล ได้แก่ การใช้ความเชื่อ (Faith) ข้อควรระวังคือ เราจะต้องระวังที่จะไม่ข้ามขั้นตอน เพราะบางครั้งเราอาจจะปกปิดบาดแผลด้วยความคิด โดยที่จริง ๆ แล้วบาดแผลยังไม่หาย


"พระองค์เอง ได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายจากบาปได้ และดำเนินชีวิตตามคลองธรรม ด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย" (1เปโตร 2:24)


6. แต่งหรือปิดแผล เป็นขั้นตอนที่เราจะใช้ความอดทน (Patience) รอคอย รอเวลา โดยที่เราจะวางไว้กับพระเจ้าที่ไม้กางเขนนั้น ไม่ต้องไปพูดถึงมันอีก ไม่ต้องไปคิดถึงมันอีก




ผลของการรักษา
แผลก็จะกลายเป็นแผลเป็น ซึ่งแผลเป็นต่างจากแผลสด ก็คือ แผลเป้นจะไม่เจ็บอีกต่อไป สามารถพูดถึงได้โดยไม่รู้สึกเจ็บในจิตใจ


รำคาญคนอื่นน้อยลง เราจะสามารถรักพี่น้องได้โดยไม่ต้องฝืนใจ จะสามารถเข้าใจคนอื่นได้อย่างดี


มองสิ่งต่าง ๆ ในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม


มีอิสระในการเข้าไปใกล้คนอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ


สามารถรักคนอื่นถึงขีดที่เราไม่เคยกล้าที่จะกระทำมาก่อน


ไวต่อความต้องการและบาดแผลของคนอื่น


มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ความฝัน สุขภาพร่างกาย นิสัยบางอย่าง (ที่ฝังรากลึก) ซึี่งนิสัยบางอย่างเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


ความกลัวบางประการไม่มีอำนาจบังคับอีกต่อไป


มีความเข้มแข็งใหม่ ๆ เราจะเป็นคริสเตียนที่กล้าที่จะเชื่อฟังพระเจ้า กล้าที่จะสำแดงความรักมากยิ่งขึ้น






อ. จารุมาศ รัศมี (นามแฝง)

คำแบ่งปันคณะเพื่อคุณ คริสตจักรสะพานเหลือง

เมื่อวันที่ 01/03/2009

เรื่อง บาดแผลฝ่ายวิญญาณ

เป็นพระพรต่อชีวิตคนอื่น

จงใช้ความทุกข์ลำบากของท่านให้เกิดประโยชน์
http://www.holyofholies.net/sermon07/08_aug_19.htm

วันนี้ถ้อยคำพระเจ้าจะใช้ชื่อว่า “จงใช้ความทุกข์ลำบากของท่านให้เกิดประโยชน์” นะครับ เราต้องใช้ความทุกข์ยากลำบากที่พระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราให้เกิดประโยชน์ จากที่ได้บรรยายไปแล้วเรื่อง “พระเจ้าอยู่ไหน ในยามที่เราทุกข์ยากลำบาก” ไปทั้งหมด 5 ตอนแล้ว เราก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของความทุกข์ยากลำบากแล้วอย่างละเอียด ตั้งแต่เรื่องที่มาของความทุกข์ยากลำบาก วัตถุประสงค์ของความทุกข์ยากลำบาก ที่พระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เราควรจะคิดอย่างไร และเผชิญต่อความทุกข์ยากลำบากอย่างไรที่จะทำให้เจริญเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิญญาณ สำหรับขณะนี้แล้ว เราก็คิดว่าทุกคนคงเข้าใจในเรื่องความทุกข์ยากลำบาก และเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิญญาณแล้วทุกคน คงไม่มีคนไหนที่ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องนี้ 5 ตอนแล้ว จะมาถามพระเจ้าอีกว่า “ทำไม” เวลามีความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพราะเรารู้ว่าขณะนั้นพระเจ้าก็สถิตอยู่กับเรา

และขั้นตอนต่อไป คือ แล้วเราจะใช้ความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งเป็นประสบการณ์ในชีวิตของเรานั้น มาใช้เป็นประโยชน์สำหรับหนุนจิตชูใจผู้คนได้อย่างไร


มีพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นเสมอ

เราจะพูดย้ำอยู่เสมอว่าบนโลกใบนี้ เราต้องเจอความทุกข์ยากลำบากอย่างแน่นอน ไม่มีใครหนีพ้นเลยสักคน พระคัมภีร์บอกว่าเบื้องหลังความทุกข์ยากลำบากนั้น ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือจะเล็กขนาดไหนก็ตาม มีพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นเสมอ ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นกับเรา โดยปราศจากวัตถุประสงค์ของพระเจ้า


เพราะฉะนั้น หลายครั้งที่พระเจ้าทรงให้เกิดความยากลำบากขึ้นกับเรา เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะเผชิญ และสามารถใช้ประสบการณ์นั้น ให้เป็นการรับใช้พระเจ้า ให้ผู้คนรับรู้ถึงพระคุณ ความเมตตาหรือฤทธิ์เดชอำนาจของพระองค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเผชิญความทุกข์ยากลำบากบนโลกใบนี้


เราจะเห็นว่าพระเจ้าใช้พวกเขา ผ่านทางความทุกข์ยากลำบากอย่างมากมาย

ถ้าเรามองผ่านชีวิตการรับใช้พระเจ้า ในผู้รับใช้หลายๆ คนในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระคัมภีร์ เราจะเห็นว่าพระเจ้าใช้พวกเขา ผ่านทางความทุกข์ยากลำบากอย่างมากมาย และใช้ประสบการณ์จากความทุกข์ยากลำบากนั้น ให้เห็นว่าเขาได้รับพระคุณและความเมตตาจากพระเจ้า และผ่านพ้นมาได้ เกิดเป็นพระพรต่อชีวิตผู้คนมากมาย เป็นคำพยานของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งได้นำมาซึ่งความรอดและความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ทำให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นจริง หรือการทรงสถิตอยู่ของพระคริสต์


สมมติเราไม่มีความทุกข์ยากลำบากอะไรเลย ไม่ได้เจอปัญหาอะไรเลย แล้วเราจะเป็นพยานบอกว่าเรารักพระเจ้า พระเจ้าทรงพระชนม์อยู่อย่างแน่นอนเลย อวยพรเรา จนกระทั่งเรามีสุภาพที่ดี แข็งแรงอย่างนี้ ยอดเยี่ยมอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าแม้เราจะประสบความทุกข์ยากลำบาก แต่เรายังอยู่ได้ เรายังยิ้มได้ เรายังขอบคุณพระเจ้าได้ และมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยสันติสุข เพราะเรามีความหวังใจในพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ อย่างนี้สิมันแปลกประหลาด อย่างนี้สิ มันแตกต่าง


พอเริ่มอายุมากขึ้นๆ หมดแรงแล้ว เริ่มฟังแล้ว

เพราะฉะนั้น คำพยานของบุคคลเหล่านี้ ที่ได้ผ่านความทุกข์ยากลำบากในพระคัมภีร์ ซึ่งมีอยู่มากมาย ได้นำพาผู้คนจำนวนมากมายมารู้จักพระเจ้า ได้รับความรอดในองค์พระเยซูคริสต์ แล้วยังมีเรื่องราวอีกเยอะแยะ ที่เผชิญกับปัญหาและความทุกข์ยากลำบาก ที่ได้ทำให้ชีวิตของคนอีกหลายๆ คนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างอัศจรรย์ และเป็นตัวอย่างให้คนอื่น อย่างเช่น เปลี่ยนแปลงจากที่ไม่เคยสนใจเรื่องสุขภาพเลย พอป่วยเป็นโรคก็เริ่มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เริ่มรู้จักระมัดระวังเรื่องอาหาร เริ่มออกกำลัง เริ่มรู้จักพักผ่อนมากขึ้น อันนี้เห็นชัดๆ เลย หรือที่เขาบอกว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” อะไรอย่างนั้น ตอนหนุ่มๆ ตอนที่ยังวัยรุ่นอยู่ พ่อแม่เตือน ใครๆ เตือนก็ไม่ฟัง พอเริ่มอายุมากขึ้นๆ หมดแรงแล้ว เริ่มฟังแล้ว เริ่มรู้แล้วว่าสุขภาพของเรา ต้องระมัดระวังด้วย ไม่ใช่พอมีพระเจ้าแล้ว “ฉันมีพระเจ้าอยู่ ฉันตะลุยลูกเดียวเลย” ไม่หลับไม่นอน ไม่พัก ไม่ผ่อน อาหารก็อดเยอะแยะ อย่างนั้นก็เป็นประสบการณ์อันหนึ่ง ที่ทำให้รู้ว่าการที่จะทำงานอะไรต่างๆ ก็ต้องดูแลสุภาพตัวเอง ให้เป็นไปตามกฎของร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน


จากที่ไม่เคยสนใจครอบครัว พอเริ่มมีปัญหาชีวิตคู่ หรือมีปัญหาเรื่องลูก ก็เริ่มคิดได้ หันมาดูแลห่วงใยมากขึ้น รักและเข้าใจลูก ภรรยามากขึ้น อย่างนี้เป็นต้น จากที่ไม่เคยเห็นใจใคร พอต้องเจอความทุกข์ยากลำบาก ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เริ่มจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้นว่าเจ็บแล้วเป็นอย่างไร


ในหนังสือลูกา 15:11-32 ที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับคำอุปมาเรื่องบุตรน้อยหลงหาย ก็เป็นตัวอย่างการเผชิญความทุกข์ยากลำบาก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สรุปเรื่องตอนต้นๆ ก็คือ.-


…. มีชายคนหนึ่ง มีลูก 2 คน อยู่มาวันหนึ่งลูกคนเล็กก็ขอแบ่งสมบัติจากบิดา แล้วก็ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติ ผลาญเงินจนหมดสิ้น จนกระทั่งเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก คืออดอยาก ต้องไปรับเลี้ยงหมูให้กับคนอื่นเขา แล้วไม่มีอาหารจะกิน ก็เลยคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อ ก็คิดในใจว่าไปเป็นคนรับใช้ที่บ้านพ่อ ยังมีอาหารได้กินดีกว่านี้ ก็เลยคิดที่จะกลับมาที่บ้าน แล้วก็จะบอกกับพ่อว่าขอกลับมาอยู่กับพ่อในฐานะลูกจ้างก็พอแล้ว แต่พ่อก็เมตตาและให้อภัยและจัดเลี้ยงต้อนรับอย่างดี จนกระทั่งพี่ชายรู้สึกเคืองที่พ่อทำดีกับน้องชาย ทั้งๆ ที่น้องเคยทำตัวเสเพลมาก่อน …

และในข้อ 31-32 พ่อตอบอย่างนี้ว่า.-


ลูกา 15:31-32

“บิดาจึงตอบเขาว่า 'ลูกเอ๋ย เจ้าอยู่กับเราเสมอ และสิ่งของทั้งหมดของเราก็เป็นของเจ้า แต่สมควรที่เราจะได้รื่นเริงและยินดี เพราะน้องของเจ้าคนนี้ตายแล้ว แต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแล้ว แต่ได้พบกันอีก'"


“ตายแล้ว แต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแล้ว แต่ได้พบกันอีก” ถ้าบุตรน้อยหลงหายคนนี้ขอทรัพย์สมบัติจากพ่อ ออกจากบ้านไปแล้ว ไม่ได้ประสบกับความทุกข์ยากลำบาก สบายดี ป่านนี้ก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาบ้านอีก แล้วไม่มีโอกาสได้รับความรอด




จนในที่สุดเราก็มาพบกับพระเจ้าผู้เที่ยงแท้แต่เพียงพระองค์เดียว

ตรงนี้ทำให้เราเห็นชัดๆ 100% เลยว่าทุกคนที่มาเชื่อในพระเจ้า มารู้จักพระเจ้า ก็เพราะความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าความทุกข์ยากลำบากขนาดไหนก็ตาม ก็ทำให้เกิดผลดี ทำให้หันกลับมาแสวงหา คือองค์พระเยซูคริสต์เจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของเรา แล้วเราก็ต้อนรับพระองค์ และรับเชื่อในพระองค์ และได้รับความรอดในพระองค์


เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราไร้ประโยชน์

เราสามารถที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ความทุกข์ยากลำบากของเรา ที่พระเจ้าได้ทรงอนุญาตให้เกิดขึ้น และพระองค์ทรงนำพาผ่านมานั้น ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า เป็นการรับใช้ทางหนึ่งด้วย ซึ่งเราเรียกว่าการเป็นพยานนั่นเอง ประสบการณ์ของบางคนก็อาจเป็นพยานให้ผู้คนได้รับรู้ ถึงพระลักษณะของพระเจ้า ได้เห็นถึงพระคุณและความเมตตาของพระเจ้า หรือบางประสบการณ์ก็อาจเป็นพยานในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ในพระสัญญาของพระเจ้า บางประสบการณ์ ก็ให้เห็นถึงการอัศจรรย์ของพระเจ้า แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร


เราจะใช้ประสบการณ์ของเรา ที่ได้ผ่านความทุกข์ยากลำบากมา ให้เป็นพระพรต่อชีวิตคนอื่น เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างไรบ้าง

ทุกคนมีอยู่แล้ว เราสามารถรับใช้พระเจ้า โดยการเป็นพยานทางฝ่ายพระองค์ เริ่มจากตัวเราที่จะแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้อื่น เราควรจะมีท่าทีอย่างไร หรือคิดอย่างไร ถึงจะทำให้การแบ่งปันหรือคำพยานนั้น เป็นประโยชน์สูงสุด และเป็นไปตามคำสอน



อันดับแรกเลย ก็คือ จะต้องเปิดใจก่อน

เราจะต้องเป็นพยานด้วยการเปิดใจ พูดถึงประสบการณ์ความทุกข์ยากลำบากของเรา ที่เราเผชิญมา

ตัวอย่างเช่น อาจารย์เปาโลที่ได้บรรยายความในใจของท่าน เกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบากในการเป็นผู้รับใช้พระเจ้าอย่างแท้จริง


2 โครินธ์ 6:4-10

“แต่เราผู้เป็นคนรับใช้ของพระเจ้า ได้กระทำตัวให้เป็นที่ชอบในการทั้งปวง โดยความเพียรอดทนเป็นอันมาก ในความทุกข์ยาก ในความขัดสน ในเหตุวิบัติ ในการถูกเฆี่ยน ในการที่ถูกจำคุก ในการวุ่นวายในการงานต่างๆ ในการอดหลับอดนอน ในการอดอาหาร โดยความบริสุทธิ์ โดยความรู้ โดยการไม่โกรธเร็ว โดยใจกรุณา โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยความรักแท้ โดยถ้อยคำสัตย์จริง โดยฤทธิ์เดชของพระเจ้า ใช้เครื่องอาวุธแห่งความชอบธรรมด้วยมือขวาและมือซ้าย ทั้งเวลามียศและเวลาอัปยศ ทั้งเวลาลือกันว่าชั่ว และเวลาลือกันว่าดี ถูกเขาหาว่าเป็นคนที่ล่อลวงเขาให้หลง แต่ยังเป็นคนสัตย์ซื่อ ถูกเขาหาว่าเป็นคนไม่มีใครรู้จัก แต่ยังเป็นคนที่เขาทั้งหลายรู้จักดี เป็นคนตาย แต่ดูเถิดเรายังเป็นอยู่ เป็นคนถูกเฆี่ยนแต่ยังไม่ตาย เป็นคนที่มีความทุกข์ แต่ยังมีความยินดีอยู่เสมอ เป็นคนยากจน แต่ยังทำให้คนเป็นอันมากมั่งมี เป็นคนไม่มีอะไรเลย แต่ยังมีสิ่งสารพัดบริบูรณ์”


เปาโลได้เล่าถึงประสบการณ์ความทุกข์ลำบากที่ผ่านมา เยอะแยะมากมาย ทั้งถูกทารุณ ถูกเฆี่ยนตี ถูกดูถูกดูหมิ่น ถูกประนามใส่ร้าย ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรงว่าหลอกลวงคนอื่น ถ้าเป็นคนทั่วไป ก็ต้องบอกว่าทั้งชีวิตเจอแต่ความทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านบอกว่า “เป็นคนที่มีความทุกข์ แต่ยังมีความยินดีอยู่เสมอ เป็นคนยากจนทางวัตถุ ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่ก็ได้นำพาผู้คนมากมายให้เกิดความมั่งมี เกิดความร่ำรวยทางจิตวิญญาณ”

ตัวอย่างในข้อนี้ให้เห็นถึงลักษณะการเปิดใจของเปาโล ในการแบ่งปันประสบการณ์ความทุกข์ลำบากของตัวเอง ที่ได้เผชิญมาอย่างไม่ปิดบัง


2 โครินธ์ 16:11-13

“ดูก่อนท่านชาวโครินธ์ เราพูดกับท่านอย่างไม่ปิดบังเลย และใจของเราก็เปิดรับท่าน ใจของท่านทั้งหลายมิได้ปิดเพราะเรา แต่ปิดเพราะความรู้สึกของตนเอง ในการตอบสนอง ข้าพเจ้าขอพูดกับท่านเหมือนพูดกับบุตร คือจงเปิดจิตใจของท่านเถิด”


แต่เสร็จแล้วเราก็ผ่านชีวิตช่วงนั้นไปได้โดยพระเจ้า

ถ้าเราจะเป็นพยาน ไม่ต้องอายว่าสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ไม่ต้องอายว่าเราเป็นหนี้สิน ไม่ต้องอายที่เรามีสุขภาพที่แย่ แล้วก็ทุกข์ทรมานด้วยสุขภาพที่แย่นั้น หลายครั้งที่เราต้องเรียกร้องต่อพระเจ้า แล้วก็ทนไม่ไหว แต่เสร็จแล้วเราก็ผ่านชีวิตช่วงนั้นไปได้โดยพระเจ้า ไม่ต้องอาย ต้องเปิดใจ บอกให้หมดเลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเราบ้างที่ลำบาก ที่แย่ๆ อีกมากมายในชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน พระเจ้าจะใช้ตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ในชีวิตของเรา เพื่อผู้อื่นที่เขาทุกข์ลำบากเหมือนกัน จะได้รับการหนุนจิตชูใจ



อันดับที่สอง คือ ต้องถ่อมใจ



ยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมาว่ามันผิดพลาดอย่างไร

เรามาดูตัวอย่างในหนังสือ 1 ทิโมธี 1:15-16 “คำนี้เป็นคำจริงและสมควรที่คนทั้งปวงจะรับไว้ คือว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาในโลก เพื่อจะได้ทรงช่วยคนบาปให้รอด และในพวกคนบาปนั้นข้าพเจ้าเป็นตัวเอก แต่ว่าเพราะเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงได้รับพระกรุณา คือว่าเพื่อพระเยซูคริสต์จะได้ทรงสำแดงความอดกลั้นพระทัยทุกอย่าง ให้เห็นในตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นตัวเอกนั้น ให้เป็นแบบอย่างแก่คนทั้งปวงที่จะเชื่อในพระองค์ แล้วรับชีวิตนิรันดร์”


มนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป แต่ในบรรดาคนบาปทั้งหมด เปาโลยอมรับด้วยความถ่อมใจว่าเปาโลเป็นคนบาปที่หนักที่สุด เลวอันดับต้นๆ

ยอมรับเลยว่าเป็นตัวเอกในเรื่องของความไม่ดี ความชั่ว เปาโลยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาเคยทำความผิดบาปมากมาย แต่แม้จะบาปมากขนาดไหน ก็ยังได้รับการอภัยโดยพระโลหิตของพระเยซูคริสต์


ในพระคัมภีร์ได้กล่าวถึงสิ่งที่อาจารย์เปาโลเคยทำไว้ในอดีต ก่อนมารับใช้พระเจ้า อย่างเช่น ได้ร่วมกันฆ่าสเทเฟน ร่วมกันข่มเหงคริสตจักร



กิจการ 8:1-3

“การที่เขาฆ่าสเทเฟนเสียนั้น เซาโลก็เห็นชอบด้วย คราวนั้นเกิดการข่มเหงคริสตจักรครั้งใหญ่ในกรุงเยรูซาเล็ม และศิษย์ทั้งปวงนอกจากพวกอัครทูต ได้กระจัดกระจายไปทั่วแว่นแคว้นยูเดียกับสะมาเรีย ผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าก็ฝังศพสเทเฟนไว้ แล้วคร่ำครวญอาลัยถึงท่านอย่างยิ่ง ฝ่ายเซาโลพยายามทำลายคริสตจักร โดยเข้าไปฉุดลากชายหญิงจากทุกบ้านทุกเรือน เอาไปจำไว้ในคุก”



ทุกคนก็เป็นคนบาปหมด ดังนั้นเราต้องถ่อมใจ ถ้าเป็นพยานทางฝ่ายพระเจ้าแล้ว ต้องยอมรับว่าเราเป็นคนบาป เราทำชั่วอะไรไว้บ้าง ทำอะไรที่ไม่ดีไว้บ้าง แล้วพระเจ้าช่วยเรา อภัยให้เรา ให้เราได้รับชีวิตใหม่ ให้เราเลิกจากความบาปเหล่านั้น อย่างนี้ก็เป็นคำพยานต่อผู้คนมากมาย ให้เกิดความเชื่อ เพราะว่าไม่มีใครดีพร้อม สมบูรณ์ทุกประการ ทุกคนเคยทำบาปมาทั้งสิ้น แต่เมื่อทำบาปแล้ว รู้สึกสำนึก กลับใจใหม่ พระเจ้าก็ทรงอภัยให้ และเราก็ใช้ประสบการณ์ความผิดพลาดของเรา ในการประกาศให้ผู้คนได้เห็นถึงพระคุณที่ได้รับจากพระเจ้า อย่างนี้ เป็นการใช้ความผิดบาปในอดีตให้เกิดประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเก็บความผิดบาปนั้นไว้ในใจ แล้วก็ไม่ยอมสารภาพบาปนั้น ก็กลายเป็นที่เขาเรียกกันว่าตราบาปที่อยู่ในใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจลำบาก เหมือนติดคุกในใจ

ถ้าเราสารภาพ แล้วเราตั้งใจจริง แล้วเรากล้าบอกกับคนอื่น

เราจะหลุดและเป็นอิสระ



การยอมรับความผิดพลาดในอดีต คือ การยอมรับในสัจธรรมว่าภายใต้เนื้อหนังมนุษย์ เราไม่สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของเราได้ 100% ไม่มีทางเลย แม้แต่อัครทูตอย่างเปาโล ก็ยังยอมรับว่าทั้งเนื้อหนังและการกระทำของเขา และจิตวิญญาณต่อสู้กันตลอดเวลา ดังในหนังสือโรม 7:16-23 บันทึกไว้อย่างนี้ว่า

โรม 7:16-23

“เหตุฉะนั้น ถ้าข้าพเจ้าทำสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะทำ และข้าพเจ้ายอมรับว่าธรรมบัญญัตินั้นดี ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมิใช่ผู้กระทำ แต่ว่าบาปซึ่งอยู่ในตัวข้าพเจ้านั่นเองเป็นผู้ทำ ด้วยว่าในตัวข้าพเจ้า คือในตัวของข้าพเจ้าไม่มีความดีประการใดอยู่เลย เพราะว่าเจตนาดีข้าพเจ้าก็มีอยู่ แต่ซึ่งจะกระทำการดีนั้นข้าพเจ้าหาได้กระทำไม่ ด้วยว่าการดีนั้นซึ่งข้าพเจ้าปรารถนาทำ ข้าพเจ้าไม่ได้กระทำ แต่การชั่วซึ่งข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาทำ ข้าพเจ้ายังทำอยู่ ถ้าแม้ข้าพเจ้ายังทำสิ่งซึ่งข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะทำ ก็ไม่ใช่ตัวข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำ แต่บาปซึ่งอยู่ในตัวข้าพเจ้านั่นเองเป็นผู้กระทำ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเป็นกฎธรรมดาอย่างหนึ่ง คือเมื่อใดที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะกระทำความดี ความชั่วก็พร้อมที่จะผุดขึ้น เพราะว่าส่วนลึกในใจของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าชื่นชมในธรรมบัญญัติของพระเจ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎอีกอย่างหนึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า ซึ่งต่อสู้กับกฎแห่งจิตใจของข้าพเจ้า และชักนำให้ข้าพเจ้าอยู่ใต้บังคับกฎแห่งบาป ซึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า”




พระคำตรงนี้ ทำให้เราเห็นว่าตราบใดที่เรายังอยู่ในร่างกายนี้ เราต้องต่อสู้กับความบาปตลอดเวลา เป็นกฎพื้นฐานที่เราต้องยอมรับ

ว่าการต่อสู้ ก็มีแพ้บ้าง มีชนะบ้าง บางครั้งสิ่งที่เรารู้ว่าดี อยากจะทำ แต่ก็ไม่ได้ทำ บางครั้งรู้ว่าไม่ดี ไม่อยากทำ แต่ก็ทำ ซึ่งการยอมรับกฎของความจริง พื้นฐานตรงนี้ จะช่วยให้เราสามารถที่จะถ่อมใจ ยอมรับความผิดพลาดของเราได้ง่ายขึ้น คุ้นๆ ไหมครับว่าในจิตใจของเราเป็นอย่างนี้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ในพระคัมภีร์ก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ดี เราอยากทำ แต่เราทำไม่ได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่ในหนังสือบอกว่าอย่าทำเลย ไม่ดี ไม่ถูกต้อง แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะทำ อย่างเช่น ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความเกลียด อดไม่ได้ที่จะโกรธเขา อดไม่ได้ที่จะอิจฉาเขา อดไม่ได้ที่จะเกลียดเขา ในนี้ก็บอกแล้วว่าไม่ดี ทุกครั้งที่เราทำไป เราผิดพลาดไป เรารู้ตัวแล้วต้องทำอย่างไร เราก็ต้องมาสารภาพต่อพระเจ้า “พระบิดาช่วยลูกด้วย ลูกไม่อยากจะโกรธเขาเลย แต่ลูกเผลอไป ขอพระองค์ทรงอภัยให้ด้วย ขอบคุณพระเจ้า ในนามพระเยซูคริสต์เจ้า เอเมน” เราแพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่พอนานๆ เข้าเราก็คุ้นเคยขึ้นเรื่อยๆ ชนะขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไป ก่อนเป็นคริสเตียนเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น เป็นคนที่ชอบโกรธชาวบ้านเขา โดยเฉพาะอยู่ในบ้าน ก็กลายเป็นคนที่สงบลง เงียบลง สุขุม เต็มไปด้วยความรักและไม่โกรธ เราก็สามารถเป็นพยานให้กับผู้คนได้ว่ามาเป็นคริสเตียน มารู้จักพระเจ้าแล้ว เดี่ยวนี้จิตใจสงบขึ้น อย่างนี้เป็นต้น


และเมื่อเรามีท่าทีที่สามารถเปิดใจและถ่อมใจ ยอมรับความทุกข์ยากลำบาก และความผิดในอดีตได้แล้ว มาดูว่าพระเจ้าสามารถใช้ประสบการณ์ความทุกข์ยากลำบากของเรา ให้เป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง ต่อบรรดาการงานของพระองค์


ใช้ประสบการณ์ของเราเป็นแบบอย่าง นำพาคนอื่น หนุนจิตชูใจผู้คนที่ต้องประสบปัญหาความทุกข์ลำบาก ในลักษณะเดียวกันกับเรา ใน 2 โครินธ์ 1:4-7

2 โครินธ์ 1:4-7

“พระองค์ผู้ทรงชูใจเราในการทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา เพื่อเราจะสามารถชูใจคนเหล่านั้น ที่มีความทุกข์ยากอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วยความชูใจ ซึ่งตัวเราเองได้รับจากพระเจ้า เพราะว่าเรามีส่วนทนทุกข์กับพระคริสต์มากฉันใด ความชูใจของเราเนื่องจากพระคริสต์ก็มากฉันนั้น ที่เราทนความทุกข์ยากนั้น ก็เพื่อให้ท่านได้ความชูใจและความรอด และที่เราได้รับความชูใจ ก็เพื่อให้ท่านได้รับความชูใจด้วย ซึ่งท่านจะได้รับเมื่อเพียรสู้ทนความทุกข์เหมือนอย่างเราได้ทนนั้น เราจึงมีความหวังแน่นอนในท่านทั้งหลาย เพราะเรารู้ว่า ท่านทั้งหลายได้มีส่วนในความทุกข์ยากของเราฉันใด ท่านทั้งหลายจะได้มีส่วนในความชูใจของเราฉันนั้น”




เพื่อเราจะได้ใช้ประสบการณ์ที่เราได้รับจากพระเจ้า เป็นพระพรให้กับคนอื่น

พระเจ้าอาจให้ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นกับเรา เพื่อให้เราได้รับการเล้าโลมใจ ชูใจจากพระองค์ ได้รับการเสริมกำลังจากพระองค์ เพื่อเราจะได้ใช้ประสบการณ์ที่เราได้รับจากพระเจ้า เป็นพระพรให้กับคนอื่น เป็นแบบอย่างนำพาคนอื่นๆ อีกมากมาย ใครจะสามารถเป็นพยาน หนุนใจบรรดาคนที่ตกทุกข์ได้ยากได้ ดีเท่าๆ กับคนที่เคยประสบความทุกข์ยากลำบากมาแล้ว และใครจะสามารถเป็นพยานในความทุกข์ยากลำบาก หนุนจิตชูใจบรรดาคนที่ทุกข์ยากลำบาก ได้มากเท่ากับคนนั้นที่ประสบเรื่องเดียวกันเลย เหมือนกันเลย


ยกตัวอย่างเช่น มีปัญหาครอบครัวเหมือนกันเลย มีปัญหาสุขภาพเหมือนกันเลย มีปัญหาการเงินเหมือนกันเลย แต่เราได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์เหล่านั้นมาแล้ว โดยพระคุณของพระเจ้า ด้วยความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้น พระเมตตากรุณาของพระองค์ทรงช่วย และช่วยด้วยวิธีใด ก็เล่าให้เขาฟัง แค่นั้นเอง แล้วสิ่งนั้นก็ได้เป็นประโยชน์ในการหนุนจิตชูใจ บรรดาผู้คนของพระองค์ที่ทุกข์ยากลำบากเหล่านั้น จะได้ผ่านพ้นวิกฤตตรงนั้นไปได้


อย่างเช่นเรื่องที่จะเล่าให้ฟังเรื่องนี้ … ภรรยาของศิษยาภิบาลคนหนึ่งเพิ่งคลอดลูก 6 เดือน เด็กก็มีสภาพอ่อนแอ อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังอุ้มลูกอยู่นั้น ลูกของเธอก็สิ้นลม คือตายคาอ้อมกอดของเธอเลย ภรรยาศิษยาภิบาลคนนี้ก็กอดลูกไว้ ไม่ยอมปล่อยเลย ศิษยาภิบาลซึ่งเป็นพ่อของเด็ก ก็พยายามขอร่างของเด็กทารกน้อยนี้ เพื่อไปประกอบพิธี แต่ไม่ว่าจะพูดคุยอย่างไร เธอก็ไม่ยอมปล่อยทารกในอ้อมกอด

ปรากฏว่ามีสมาชิกที่โบสถ์คนหนึ่ง เพิ่งสูญเสียลูกชายวัยขวบเศษเมื่อปีที่แล้ว พอเธอได้ยินข่าว ก็รีบไปบ้านศิษยาภิบาล เข้าไปคุยกับภรรยาศิษยาภิบาล เธอไม่ได้ขอร่างทารกน้อยเลย เพียงแต่นั่งคุยให้ฟังถึงประสบการณ์ของเธอ ตอนที่ต้องเสียลูกชายในวัยกำลังน่ารัก และบอกว่าตอนนี้ลูกชายของเธออยู่บนสวรรค์กับพระเยซู และอาจจะกำลังรอเล่นกับเด็กน้อยคนนี้อยู่ก็ได้ และอีกไม่นานเธอก็จะได้ตามไปอยู่กับลูกด้วย



พอได้ฟังเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ โดยที่ไม่มีการเอ่ยปากขอร่างของทารกน้อยเลย ภรรยาของศิษยาภิบาลก็ส่งลูกของเธอให้ และนำไปให้ศิษยาภิบาล เพื่อเตรียมทำพิธี แล้วผู้หญิงทั้งสองคนที่ได้ผ่านความทุกข์ยากลำบากเหมือนกัน เรื่องเดียวกัน ก็คุกเข่าลงอธิษฐานด้วยกัน …



เห็นไหมครับ! หลายครั้งเป็นแบบนี้แหละ เราไม่รู้หรอก เราก็ปล่อยให้พระเจ้านำพาเราไป ใช้ชีวิตของเราไป และพระเจ้าจะใช้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ให้เป็นประโยชน์กับคนอีกมากมาย ยิ่งประสบปัญหาความทุกข์ยากลำบากมากเท่าไหร่ พระเจ้าก็จะใช้สิ่งนั้นให้เกิดประโยชน์กับผู้คนมากเท่านั้น



มีอีกเรื่องหนึ่ง … เมื่อหลายปีก่อนหนังสือพิมพ์ของเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา

ได้ตีพิมพ์ลงข่าวความสำเร็จ ในการผ่าตัดตกแต่งกะโหลกศีรษะให้กับทารก ที่เกิดมาแล้วมีกะโหลกศีรษะที่ผิดปกติ มีรูปร่างผิดปกติ ซึ่งจะไปกดทับเส้นประสาทสมอง และจะส่งผลให้คนไข้มีอาการปวดศีรษะตลอดเวลา และพิการทางสมอง ผลงานความสำเร็จนี้เป็นของนายแพทย์รันมอนโล แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต



ก็มีคนถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้หมอพยายามคิดค้น และทำการทดลองด้วยความอุตสาหะและพยายามอย่างมาก คำตอบคือว่าเพราะลูกชายของหมอเอง เป็นโรคนี้ และก่อนลูกชายจะเสียชีวิต เป็นเวลาหลายปีที่หมอต้องทนเฝ้าดูอาการ ความทุกข์ทรมานของลูกชาย โดยที่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ …

เห็นไหมครับ! เพราะความทุกข์ยากลำบากที่เกิดกับหมอ หมอจึงเข้าใจ ถึงความทุกข์ยากลำบากที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาเด็กๆ อีกมากมาย และพ่อแม่ของเด็กๆ อีกมากมาย ไม่อยากให้เขาได้เจออย่างนี้ พระเจ้าก็ใช้ และทนอุตสาหะ บากบั่น ศึกษา ค้นคว้า จนกระทั่งได้วิธีการรักษาขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น


อย่าให้เขาหลุดจากทางของพระองค์ไป

อีกอันหนึ่งที่เห็นชัดๆ เลย เราอธิษฐานให้ลูกของเรา มากเท่าไหร่ที่เราห่วงเขา ห่วงมากที่สุดก็คือกลัวเขาหลงทางจากพระเจ้า ไม่เดินอยู่ในทางพระเยซูคริสต์ ถามว่าเรากลัวเพราะอะไร เพราะเราผ่านมาแล้ว เรารู้ว่าทุกคนต้องมีพระเจ้าอยู่ในชีวิต เรามีประสบการณ์แล้ว เราจึงห่วงลูก จึงอธิษฐานทุกวันทุกคืน “ขอพระเจ้าเมตตา ขอพระองค์ทรงดูแลชีวิตของพวกเขา ให้อยู่ในทางของพระองค์ อย่าให้เขาหลุดจากทางของพระองค์ไป อย่าให้เขาทิ้งพระองค์ ให้เขาติดสนิทกับพระองค์ ให้เขาเจริญเติบโตทางฝ่ายจิตวิญญาณ ให้เขารักพระองค์ ให้เขาสนิทสนมกับพระองค์ ปกป้องคุ้มครองดูแลรักษาชีวิตของเขา ดูแลเขาจากการกระทำผิดบาปทั้งปวงด้วย”


ชีวิตมนุษย์ไม่ได้สิ้นสุดตรงความตายบนโลกใบนี้

พ่อแม่จะอธิษฐานให้ลูกมากที่สุด เพราะรู้ว่าถ้าไม่มีพระเจ้าลำบากแน่ๆ แล้วลำบากอย่างที่สุด ไปจนถึงนิรันดร์กาลเลย ความหวังนั้นอยู่ในพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอด อยู่ในสวรรค์สถาน ในความรอดนิรันดร์กาลที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ไม่ได้สิ้นสุดตรงความตายบนโลกใบนี้ แต่ยังมีชีวิตหลังความตายอีก ที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ และเอาจริงเอาจัง เรารู้แล้ว แต่ลูกเรายังวัยรุ่นอยู่ หรือยังเด็กอยู่ ยังไม่รู้ เราก็เลยอธิษฐานอย่างสุดขีด เพื่อให้ลูกเราอยู่ในทางของพระเจ้าให้ได้ อย่าให้เขาทิ้งพระเจ้า เห็นไหมครับ เพราะประสบการณ์นี่แหละที่พระเจ้าทรงใช้



และยังมีอีกหลายอย่างที่พระเจ้าทรงสามารถใช้ อย่างเช่น เราไม่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองในทุกสิ่ง แต่เราใช้ประสบการณ์ของผู้อื่นมาเป็นคนสอนเรา อย่างเช่นการรับประทานอะไรได้หรือไม่ได้ ที่เป็นโทษ เราไม่ต้องไปลองเอง ยกตัวอย่างเช่นปลาปักเป้า ถ้าทำไม่ถูกต้องกิน แล้วจะเป็นพิษถึงตาย



จนกระทั่งมาถึงจุดที่พระเจ้าเท่านั้นคือสิ่งเดียวที่เราเหลืออยู่

พระคัมภีร์ก็มีตัวอย่างเป็นบทเรียน ที่พระเจ้าต้องการสอนเราผ่านทางความทุกข์ลำบาก และเป็นพยานว่า “ฉันได้พบกับความทุกข์ยากลำบากอย่างนี้อย่างนั้นมา และฉันได้วางใจในพระเจ้าอย่างไร และพระเจ้าได้ช่วยฉันหลุดรอดพ้นมาได้อย่างไร” มีคนกล่าวว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าในทุกๆ สถานการณ์ พระเจ้าคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่เราต้องการ จนกระทั่งมาถึงจุดที่พระเจ้าเท่านั้นคือสิ่งเดียวที่เราเหลืออยู่ และเคยมีผู้ประสพภัยพิบัติธรรมชาติ สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ได้พูดว่า “ถึงแม้เราจะสูญเสียทุกอย่าง แต่เราก็ยังมีพระเจ้า”



จากจุดนี้แหละ ที่พระเจ้าจะได้เริ่มทำงานในชีวิตของเรา

เมื่อหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็จะรู้ว่าสิ่งเดียวที่เราเหลืออยู่ และอยู่เคียงข้างเราตลอด คือพระเจ้า และจากจุดนี้แหละ ที่พระเจ้าจะได้เริ่มทำงานในชีวิตของเรา เริ่มให้เราได้เรียนรู้ว่าเมื่อเรามีพระเจ้า ก็เท่ากับมีทุกสิ่ง ให้เราสามารถวางใจในพระเจ้า และให้พระองค์นำเราผ่านในทุกๆ สถานการณ์แห่งความทุกข์ยากลำบากได้ ในหนังสือ 2 โครินธ์ 1:8-10


2 โครินธ์ 1:8-10

“พี่น้องทั้งหลาย เราอยากให้ท่านทราบถึงความทุกข์ยากที่เกิดแก่เราในแคว้นเอเชีย ซึ่งทำให้เราหนักใจเหลือกำลัง จนเราเกือบหมดหวังที่จะเอาชีวิตรอดมาได้ ที่จริงเราคาดว่าเราถึงที่ตายแล้ว แต่ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อมิให้เราไว้ใจในตนเอง แต่ให้ไว้ใจในพระเจ้า ผู้ทรงโปรดให้คนทั้งปวงฟื้นจากความตาย พระองค์ทรงช่วยเราให้พ้นจากมรณภัย และพระองค์จะทรงช่วยเราอีก เราไว้ใจพระองค์ว่า พระองค์จะทรงช่วยเราต่อไปอีก”




แต่พระเจ้าบอกว่าพระคัมภีร์เล่มเดียว ได้รวบรวมวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาในชีวิตของเรา ครบทุกเรื่อง

นอกเหนือจากที่พระเจ้าใช้ประสบการณ์ของพวกเรา ให้เป็นพยานเกี่ยวกับเรื่องการไว้วางใจในพระเจ้า และผ่านพ้นชีวิตแห่งความทุกข์ลำบากแล้ว พระองค์ยังทรงให้เราเป็นพยานว่าถ้าเชื่อถ้อยคำพระเจ้าแล้ว การดำเนินชีวิตจะเป็นพระพร หลายคนเมื่อมีปัญหา ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยความคิดตัวเอง ตามแบบอย่างที่โลกเขาทำกัน มีหนังสือวางขายในท้องตลาดกันเยอะแยะ อย่างเช่น “20 วิธีในการแก้ปัญหาชีวิต” “12 วิธีในการทำให้รวย” “7 วิธีในการใช้ชีวิตคู่” “6 วิธีในการประสบความสำเร็จ” “ในความร่ำรวย” อะไรต่างๆ แต่พระเจ้าบอกว่าพระคัมภีร์เล่มเดียว ได้รวบรวมวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาในชีวิตของเรา ครบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว เรื่องการเงิน เรื่องการดำเนินชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างไร และรวมไปถึงชีวิตภายภาคหน้าด้วย บางครั้งพระเจ้าก็ปล่อยให้เราดิ้นรน คิดแก้ปัญหาไปเองก่อน แล้วก็พลาดซ้ำๆ จนกระทั่งกลับมาหาพระเจ้า พักพิง พึ่งพิงในถ้อยคำพระเจ้า ให้พระวจนะของพระเจ้านำพาเราผ่านไปได้ เพื่อเราจะได้เรียนรู้ตรงนี้ และจะได้ประกาศออกไป เป็นพยานให้กับคนอื่นได้รับรู้ และนำพาผู้คนมาสู่ถ้อยคำของพระเจ้า


เห็นไหมครับ พอเราได้เรียนรู้ ได้หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ เพราะพระคัมภีร์ได้สอนไว้อย่างนี้ๆ ผู้คนก็มาศึกษาถ้อยคำพระเจ้า และได้เรียนรู้จักถ้อยคำพระเจ้า เพราะเป็นถ้อยคำที่มีฤทธิ์อำนาจ สามารถช่วยเราให้พ้นจากปัญหาทุกๆ อย่างในชีวิตของเราได้



สดุดี 119:71-72

“ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก เพื่อข้าพระองค์จะเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ของพระองค์ สำหรับข้าพระองค์ พระธรรมแห่งพระโอษฐ์ของพระองค์ ก็ดีกว่าทองคำและเงินพันๆ แท่ง”


จากประสบการณ์ของความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งทำให้เกิดความไว้วางใจในพระเจ้า ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับถ้อยคำพระเจ้า ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการพักพิงซึ่งกันและกัน พระคัมภีร์บอกว่า พระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ให้อยู่โดดเดี่ยว แต่ให้เราพึ่งพิงซึ่งกันและกัน


1 โครินธ์ 11:11

“ถึงกระนั้นก็ดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ชายก็ต้องพึ่งผู้หญิง และผู้หญิงก็ต้องพึ่งผู้ชาย”


ในประเด็นตรงนี้ไม่ได้หมายถึงการใช้ชีวิตคู่หญิงชาย แต่เป็นมุมมองให้เห็นว่าพระเจ้าได้สร้างมนุษย์ โดยใส่คุณสมบัติบางอย่างเอาไว้ในผู้หญิง ซึ่งผู้ชายไม่มี และคุณสมบัติบางอย่างเอาไว้ในผู้ชาย ซึ่งผู้หญิงไม่มี และให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ที่จะพึ่งพาซึ่งกันและกัน



ปัญญาจารย์ 4:9-10

“สองคนดีกว่าคนเดียว เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับผลของงานดี ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง อีกคนหนึ่งจะได้พยุงเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น แต่วิบัติแก่คนนั้นที่อยู่คนเดียวเมื่อเขาล้มลง และไม่มีผู้อื่นพยุงยกเขาให้ลุกขึ้น”


ชีวิตเราถ้าไม่เคยต้องการพึ่งพิงใคร เราก็จะไม่รู้จักการให้ผู้อื่นพึ่งพิงด้วยเช่นเดียวกัน คือถ้าเราคิดในใจว่าเราจะไม่พึ่งพาใคร ในขณะเดียวกันเราก็จะไม่ให้ใครพึ่งพาเราด้วย มันเป็นธรรมดา การยอมรับการช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ได้เป็นการเสียศักดิ์ศรี หรือเป็นการแสดงถึงความอ่อนแออย่างที่หลายๆ คนคิด บางครั้งเมื่อเราต้องเผชิญปัญหา หรือความทุกข์ยากลำบาก พระเจ้าก็อาจจะประทานความช่วยเหลือแก่เรา ผ่านทางผู้อื่น ให้เราได้มีประสบการณ์ที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น และเรียนรู้จักที่จะ เป็นที่พึ่งพิงสำหรับคนอื่นต่อไป


เป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งเย่อหยิ่ง นึกว่าอะไรต้องมาจากพระเจ้าอย่างเดียว

“มาจากคนไม่เอา ฉันจะรอพระเจ้า” เหมือนกับที่เขาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่าน้ำท่วมเมืองจนถึงหลังคา มีชายคนหนึ่งหนีขึ้นไปอยู่บนหลังคา แล้วก็อธิษฐานกับพระเจ้า ขอพระเจ้ามาช่วยด้วย สักครู่หนึ่งก็มีเรือมารับ ชายคนนี้ก็บอกว่า “ไม่ไป ฉันอธิษฐานกับพระเจ้า พระเจ้าต้องมารับฉัน พระเจ้าต้องมาช่วยฉัน เพราะฉะนั้นฉันไม่พึ่งพามนุษย์ ฉันไม่พึ่งพาเรือ” เรือก็ผ่านไป อีกสักครู่หนึ่งน้ำก็เข้ามาอีก ขึ้นมาจะถึงสุดแล้ว ไม่มีที่ยืนอยู่แล้ว คราวนี้ส่งเฮลิคอปเตอร์มา เฮลิคอปเตอร์ก็บอกว่า “เอ้า! เร็วขึ้นมาเลย” เขาบอก “ไม่เอา ฉันรอพระเจ้าอยู่ พระเจ้าจะต้องมาช่วยฉัน เพราะฉันอธิษฐานกับพระเจ้าแล้ว” เสร็จแล้วเฮลิคอปเตอร์ก็ผ่านไป จนกระทั่งน้ำขึ้นมาท่วมหลังคา ชายคนนี้เลยตายไป พอขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ เขาถามพระเจ้าว่า “อธิษฐานขอพระเจ้ามาช่วยตั้งนาน พระเจ้าไม่เห็นมาสักทีเลย ไหนบอกว่าอธิษฐานแล้วพระเจ้าจะช่วยไง พระองค์จะทรงช่วยกู้” พระเจ้าก็บอกว่า “เอ้า! ก็ส่งเรือมาตั้งแต่ลำแรกแล้ว ทำไมไม่ไป” เป็นอย่างนี้


ขึ้นอยู่กับพระเจ้าเองต่างหาก

ฉะนั้นคริสเตียนหลายคนก็เคยปิดประตู ไม่ยอมรับการช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยคิดว่าเมื่อมีพระเจ้าก็พอเพียงแล้ว เช่นเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่ไปหาหมอ เรียกร้องให้พระเจ้ารักษาอย่างเดียว ไม่คิดว่าจริงๆ แล้วหมอและยาก็มาจากพระเจ้าในการประทานการรักษาให้ อันนี้คุ้นๆ ไหมครับ บางคนเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมเองในอดีตก็เคยเป็นอย่างนั้นแหละ อดีตเชื่อพระเจ้ามากๆ จนเว่อร์ไป หมอไม่ได้อยู่ในสายตาเลย “ทำไมต้องมีหมอด้วย ในเมื่อเราวางมืออธิษฐานรักษาคนหายโรคได้” ลืมไปว่าการรักษาคนหายโรคนั้น มันขึ้นอยู่กับพระเจ้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมือของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเราด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับพระเจ้าเองต่างหาก ก็เลยคิดว่าขนาดเราวางมือรักษาโรคคนอื่นหาย แล้วเราไม่สบาย ทำไมเราต้องไปหาหมอ ใช้ความอดทนเอา มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดหัวมาก ไม่ยอมกินพาราฯ ใช้อธิษฐานเอา ปวดแบบมากๆ ซึ่งมันก็คงทำลายชีวิตของเรา ทำลายสุขภาพของเราไปมาก ปวดหัวจนหลายวัน ไข้ขึ้นสูงก็ใช้เช็ดตัวเอา แล้วก็อธิษฐานๆ แต่แย่นะครับ ที่พูดมันหายไปแล้ว แต่มันทรมานมากเลย ทำไมต้องทรมานถึงขนาดนั้น เพราะในใจคิดอย่างนี้แหละ มีพระเจ้าก็พอแล้ว ไม่ต้องพึ่งหมอหรอก เป็นการคิดที่ผิดมาก แล้วก็เกิดเป็นความเสียหาย สำหรับสุขภาพร่างกายในอนาคตต่อมา ซึ่งเลยไป 3 – 4 วัน ก็ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องกินยาพาราฯ ปรากฏว่าหลังจากที่กินยาพาราฯ 3 – 4 วันยังไม่หายเลย ไข้ยังไม่ยอมลด ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะไปหาหมอ เพราะเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย พระเจ้ารักษาได้ผ่านทางหมอ


ขึ้นอยู่กับพระเจ้าที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัย

นี่คือตัวอย่างอันหนึ่งในชีวิตของผมที่ผ่านมา แล้วเกิดเป็นความเข้าใจมากขึ้น เริ่มรู้สึกมากขึ้นว่าสิ่งที่เขาพูดกันไว้ ที่เขาสอนไว้ว่าพระเจ้าก็ทรงใช้หมอและยามารักษาลูกๆ ของพระองค์ให้หายจากความทุกข์ทรมานเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นป่านนี้ผมคงจะเป็นอะไรแล้วก็ไม่รู้ และอีกหลายๆ เรื่อง ของหลายๆ คนที่เป็นพยาน ที่เราได้ยินได้ฟังเป็นอย่างนี้เหมือนกัน แล้วก็เกิดความทุกข์ลำบาก และไม่ได้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า เพราะว่าจะพึ่งพระเจ้าอย่างเดียวเลย ไม่คิดเลยว่าหมอและยาก็พระเจ้าเป็นผู้ประทานให้ พระเจ้าก็ทรงประทานสติปัญญาให้กับคนได้เรียนแพทย์ เป็นหมอ ประทานสติปัญญาให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่จะค้นคิดหายารักษาโรคขึ้นมา การวางมืออธิษฐานนั้น เป็นน้ำพระทัยพระเจ้า ที่พระองค์จะทรงให้หรือไม่ให้ หายหรือไม่หาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเราเลย ขึ้นอยู่กับพระเจ้าที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยของพระองค์เอง ว่าจะรักษาคนนี้ด้วยวิธีการอัศจรรย์ไหม



เมื่อก่อนทุกครั้งที่เราวางมือรักษาโรคให้เขาหายนั้น เรารู้สึกว่าความเชื่อของเรา ทำให้เขาหาย และความเชื่อของเขาทำให้เขาหายด้วยเช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นมาพระเจ้าก็สอนให้เราสังเกตเห็นมากขึ้น ว่าคนนี้หาย ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้เชื่อนะ เข้าใจไหม เราวางมือไปเฉยๆ เรายังไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรเหมือนแต่ก่อนนี้เลย แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่าเขาจะหายด้วย เราวางมือไปตามหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง ปรากฏว่าเขาก็หายด้วย ง่ายๆ ง่ายกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนนี้จะวางมืออธิษฐานที ต้องเตรียมตัวเป็น 4 – 5 ชั่วโมง บางครั้งต้องเตรียมตัวเป็น 2 วัน 3 วัน ต้องอดอาหารด้วย ต้องอธิษฐานหลายๆ ชั่วโมง เพื่อจะสร้าง ที่เราเรียกว่าความเชื่อขึ้นมา แล้วถึงไปวางมือเขา ซึ่งหลายคนอดอาหารไปอย่างนั้น และอธิษฐานมากขนาดนั้น ไปวางมือให้กับเขา ปรากฏว่าเขาก็ตาย



นี่คือประสบการณ์จริงๆ ทำให้เราคิดขึ้นมาว่าตายได้อย่างไร ร้องห่มร้องไห้ต่อหน้าศพเขาเลย เพราะเสียใจ เพราะเราคิดอีกแบบหนึ่ง แต่พระเจ้าทรงเมตตาเรา สอนเรา สอนผม ไม่อย่างนั้นก็แย่กว่านี้ เพราะเราคิดว่าการตายนั้นเป็นสุดๆ แล้ว ปัญหาอยู่ที่ตายหรือไม่ตาย ไม่ใช่ หลังจากความตายแล้ว ยังมีชีวิตนิรันดร์อยู่ พระองค์เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ชีวิตไม่ได้มีแค่บนโลกใบนี้เท่านั้น แต่มนุษย์บนโลกใบนี้เหมือนแค่เตรียมตัว เหมือนโรงเรียนอนุบาล หรือเหมือนกับไข่เท่านั้นเอง ที่กำลังฟักตัว


เมื่อสิ้นสุดชีวิตบนโลกใบนี้แล้ว เหมือนไข่ใบนี้ฟักตัวออกมา แล้วจะเป็นไก่ที่น่ารักดีๆ หรือจะเป็นไก่พิการ

หรือจะเป็นไก่ตาย ดังนั้นชีวิตบนโลกใบนี้ เป็นแค่ไข่เท่านั้นเอง ชีวิตจริงๆ คือหลังความตาย หลังจากทิ้งร่างบนโลกใบนี้แล้ว ซึ่งจะต้องอยู่นิรันดร์ ว่าจะอยู่กับพระเจ้านิรันดร์กาลในสวรรค์สถาน หรือยู่ในนรกนิรันดร์กาล ซึ่งตัดขาดจากพระเจ้า ทุกข์ทรมานมากในบึงไฟนรก ตรงนี้สำคัญกว่า เราลืมคิดถึงสิ่งที่ยาวเหยียด แล้วยังอีกมากมายในน้ำพระทัยพระเจ้าที่เราไม่รู้ ซึ่งเราได้เรียนรู้กันมาแล้ว 5 ตอนว่าน้ำพระทัยพระเจ้าที่เรายังไม่รู้ ยังมีอีกเยอะแยะมากมาย พระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ควบคุมทุกสถานการณ์ในชีวิตของเรา


เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงสอนเราว่าถ้าเราพึ่งพิงในพระเจ้า และยอมให้พระเจ้าทำให้เราถ่อมใจลง

สามารถที่จะมีความทุกข์ลำบากเกิดขึ้นกับเรา และสามารถที่จะยอมรับการช่วยเหลือ การพึ่งพิงจากผู้อื่น อย่างเช่น ไม่สบายก็ไปให้หมอดูแล ไปโรงพยาบาลอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็จะรู้สึกถ่อมใจและยอมที่จะให้พระเจ้าใช้เรา ในการที่เราจะเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนอื่นได้เช่นกัน


ที่ยกมา 3 ประเด็นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ให้เราได้เห็นว่าทุกๆ ปัญหา ทุกๆ ความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้น จะต้องมีอะไรบางอย่างที่พระเจ้าต้องการให้เราได้เรียนรู้ และเพื่อเป็นพยานให้กับคนอื่น คือ.-

1. เรียนรู้ในการที่จะวางใจในพระเจ้า
2. เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังถ้อยคำพระเจ้า
3. เรียนรู้ในการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน



“พระเจ้า พระองค์ต้องการสอนอะไรลูก”

ใช้ประสบการณ์ของเรา ที่พระเจ้าจะใช้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เมื่อเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้น แทนที่จะมัวมานั่งถามว่า “ทำไม” “ทำไมต้องเกิดขึ้นกับเรา” “ทำไมต้องเป็นเรา” ลองเปลี่ยนคำถามว่า “อะไร” “พระเจ้า พระองค์ต้องการสอนอะไรลูก” พระองค์ต้องการให้ลูกเรียนรู้อะไรในการเผชิญกับสถานการณ์นี้” “พระองค์ต้องการให้ลูกเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของลูก” เพื่อเราจะได้เรียนรู้ และก็แบ่งปันประสบการณ์นี้ให้กับผู้อื่น เป็นพระพร เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป



อันดับที่สาม หลายคนมีประสบการณ์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความทุกข์ยากลำบาก แล้วก็ได้รับสิ่งที่ดีๆ ในภายหลัง




โรม 8:28 ที่เราคุ้นเคยกันดี

“เรารู้ว่าพระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง คือคนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเรียก ตามพระประสงค์ของพระองค์”


เรื่องราวของโยเซฟ ในหนังสือปฐมกาลก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งโยเซฟถูกพี่ชายขายให้กับคนอิชมาเอล ตั้งแต่อายุ 17 ปี แล้วถูกนำไปที่ประเทศอียิปต์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนต้น ถือว่าเป็นความทุกข์ยากลำบากของโยเซฟแน่นอน แต่ตอนหลังโยเซฟก็ได้ดี ได้ทำงานเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ฟาโรห์ มีตำแหน่งใหญ่โตในอียิปต์ แล้วในที่สุดพวกพี่ชายที่เคยทำให้โยเซฟต้องทนทุกข์ทรมานนั้น ต้องมาขอความช่วยเหลือจากน้องชาย ซึ่งโยเซฟก็ไม่ได้ถือโกรธ แต่กลับบอกว่า “เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ที่ต้องการให้ผ่านความทุกข์ลำบากในครั้งนั้น เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ในวันนี้นั่นเอง



อันดับที่สี่ สุดท้าย เป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นความหวังในชีวิตของเรา แม้อยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก

เราก็สามารถประกาศให้ผู้คนได้เห็นว่า เรายังคงมีสันติสุขและมีความหวังอยู่เสมอ เพราะเราหวังในพระเยซูคริสต์
1 เปโตร 3:14-15 “แต่ถึงแม้ว่าท่านทั้งหลายต้องทนทุกข์ เพราะเหตุประพฤติการชอบธรรม ท่านก็เป็นสุข อย่ากลัวเขา และอย่าคิดวิตกไปเลย แต่ในใจของท่าน จงเคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ”


ความหวังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของทุกๆ คน

โดยเฉพาะคนที่กำลังเผชิญความทุกข์ลำบาก ยิ่งต้องการมากเป็นพิเศษ ใครที่เจอปัญหาแล้วไม่มีความหวัง ยิ่งทำให้ความทุกข์หนักขึ้นไปอีก ความหวังจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของเรา แต่ถ้าเราเห็นตัวอย่างจากคนอื่นที่เขากำลังประสบปัญหา เช่น อาจกำลังป่วยอยู่ หรือกำลังขัดสนเงินทองอยู่ แต่ท่าทีเขาไม่ได้รู้สึกกังวลหรือเป็นทุกข์เลย ยังมีสันติสุขอยู่ ยังมีความหวังอยู่ตลอดเวลา เราก็คงอยากได้เป็นแบบนั้นบ้าง คงอยากเดินเข้าไปถามว่า เขามีเคล็ดลับอะไรในการดำเนินชีวิตและเขาก็จะได้ประกาศว่า “เพราะเขามีพระเยซูคริสต์ และมีความหวังในชีวิตนิรันดร์” ตรงนี้แหละที่พระเจ้าอยากให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เมื่อความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นกับเรา


“คุณอยู่ได้อย่างไร”

นี่เป็นพยานแทนพี่น้องเราคนหนึ่ง ที่มีปัญหาเรื่องการเงินในธุรกิจที่ทำอยู่ก็ลำบากลำบน มีหนี้สินก็หมุนกันแทบไม่ทัน” ก็คือทัน ใช่ไหม ก็อยู่มาได้ตลอด ยังหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส หนำซ้ำยังเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาอีก ขับรถไม่ได้ ตาจะบอดเอาด้วยซ้ำไป ยังนั่งยิ้มอยู่ ให้คนอื่นเขาขับให้ สบาย “ตาจะบอดไม่กลัวหรือ!” “กลัวทำไม ขอบคุณพระเจ้า ดีด้วยซ้ำไปไม่ต้องขับรถเอง ให้คนอื่นขับให้” เพื่อนๆ ก็เกิดความแปลกใจว่าชีวิตอย่างนี้มีด้วยหรือ! ก็มีสิ เขาก็จะเล่าต่อไปว่าที่เขามีความคิดอย่างนี้ได้ มีความเชื่ออย่างนี้ได้ มีความหวังใจอย่างนี้ได้ ก็เพราะว่าเขามีความหวังใจ ในองค์พระเยซูคริสต์เจ้าในชีวิตนิรันดร์ พระเจ้าสถิตอยู่กับเขาเสมอ อยู่กับเขาตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นสิ่งดีที่เกิดขึ้นกับเขา พระเจ้ากำลังสอนอะไรบางอย่าง พระเจ้ากำลังดูแลชีวิตของเขา ให้เจริญเติบโตทางฝ่ายจิตวิญญาณ นี่ก็คือคำพยานชีวิต


ดังนั้นสรุปแล้วความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ไร้ประโยชน์ การที่เราจะใช้ความทุกข์ความลำบากที่เกิดขึ้นกับเรา ให้เป็นประโยชน์นั้น เราต้องเปิดใจในการเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา ด้วยความถ่อมใจ และยอมรับความบาปผิดในอดีต และรับการอภัยจากพระเยซูคริสต์


สิ่งที่พระเจ้าใช้ประโยชน์จากเราได้ จากประสบการณ์เผชิญความทุกข์ยากลำบากที่ผ่านมา ก็คือ.-

(1) นำไปหนุนจิตชูใจคนอื่น ที่ต้องประสบความทุกข์ยากลำบากในลักษณะเดียวกันกับเรา
(2) เรียนรู้และแบ่งปันบทเรียนที่ได้เรียน เช่น การวางใจในพระเจ้า การเชื่อฟังถ้อยคำพระเจ้า และการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน
(3) เป็นพยานว่าพระเจ้าทำให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่งได้
(4) เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์เป็นความหวังสูงสุดในชีวิต


และนี่คือความหมายของทั้งหมด ที่พระเจ้าจะสามารถใช้ความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้นกับเรา ให้เป็นประโยชน์ต่อการงานของพระองค์ ในการรับใช้ผู้อื่นต่อไป ขอพระเจ้าอวยพรครับ


นคร เวชสุภาพร

My Blog

  • วินัยของน้องหมา (ข้างถนน) - วันที่ 18/8/2011 เช้านี้ขณะที่รถติดไฟแดงอยู่บริเวณสี่แยกสามย่าน ซึ่งเบื้องหน้าเป็นจามจุรีสแควร์นั้น พลันก็เหลือบเห็นน้องหมาตัวหนึ่งเดินข้ามทางม้าลายด้วยอ...
    12 ปีที่ผ่านมา
  • บทความคริสเตียน - บทความคริสเตียน http://www.gracezone.org/index.php/christian-articles บทความทางด้านจิตวิญญาณ หลักข้อเชื่อ พระเจ้า พระคัมภีร์ พระเจ้า พระคัมภีร์ แนวทางในการ...
    14 ปีที่ผ่านมา
  • คริสเตียนกับการรับใช้พระเยซู - คริสเตียนกับการรับใช้พระเยซู วัน พุธ 08 ต.ค. 08@ 17:47:37 ICT หัวข้อ: สรุปคำเทศนาประจำอาทิตย์ ดร.ทะนุ วงค์ธนานุกุล วัน อาทิตย์ ที่ 21 กันยายน 2008 พระธร...
    15 ปีที่ผ่านมา
  • - แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้...
    15 ปีที่ผ่านมา

Christian Blog

บล็อกวาไรตี้

เทคโนโลยี

ดาวน์โหลดโปรแกรมมาใหม่ล่าสุด |

วาไรตี้

ข่าวประจำวัน

สารบัญเว็บไทย

กินลม ชมทะเล ที่มาร์คเฮ้าส์บังกะโล เกาะกูด จ.ตราด

Thailand Map