Custom Search By Google

Custom Search

วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คุณค่าแห่งการนมัสการ

ความล้ำค่าแห่งการนมัสการ 1
เขียนโดย Wichitra
Tuesday, 20 January 2009

ตอนที่ 1 นิยามของการนมัสการ


คาร์ล บาร์ธ กล่าวว่า“การนมัสการของคริสเตียนเป็นพระราชกิจของพระเจ้าในการทรงนำให้มนุษย์มีแรงจูงใจในนมัสการเกิดขึ้นทั้งนี้เพื่อถวายคุณค่ากลับคืนแด่พระองค์เอง”

เคนเนธ ดอบสัน กล่าวว่า “การนมัสการ คือ การถวายเกียรติแด่พระเจ้าผู้สูงสุด อันเป็นการประกาศด้วย กาย วาจา และใจว่า มีสิ่งที่สูงและยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ นั่นคือ พระเจ้า”


เอฟ. เอ็ม. เซกเลอร์ และ อาร์. แบรดลี่ย์ กล่าวว่า “การนมัสการ คือ การตระหนักถึงความบริสุทธิ์ของพระเจ้า การบรรจุพระวจนะของพระเจ้าไว้ในจิตใจ การสร้างจินตนาภาพถึงพระสิริของพระองค์ การเปิดใจรับความรักของพระเจ้า และการอุทิศตัวเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์”


จอห์น แม็คอาร์เธอร์ จูเนียร์ กล่าวว่า “การนมัสการ คือ การกล่าวถึงคุณค่าของพระเจ้า การยอมรับถึงคุณค่าสูงสุดของพระองค์มีความปรารถนาที่จะอุทิศถวายแด่พระเจ้าอย่างเต็มใจอันเป็นการถวายตัวความคิดทัศนคติและทุกสิ่งที่มีแด่พระองค์ โดยการกระทำเป็นประจำ จนกลายเป็นวิถีชีวิต”


แม้ว่าความบริสุทธิ์และความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจะทำให้เกิดความเคารพยำเกรงพระองค์อย่างมากก็ตาม แต่ในส่วนลึกของจิตใจนั้น เรียกร้องให้เราอยากจะนมัสการพระเจ้าเพื่อยกย่องพระองค์ด้วยความรู้สึกที่สำนึกในพระคุณของพระองค์ แม้ว่าจะเป็นการยากในการพยายามบรรยายความหมายของการนมัสการพระเจ้าออกมาด้วยถ้อยคำ เพราะเป็นประสบการณ์ในการสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้นมัสการกับพระเจ้า แต่การนมัสการก็เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งอย่างหนึ่งของชีวิตที่ไม่อาจลดคุณค่าลงจนเหลือเพียงแค่เป็นกฏระเบียบหลักข้อเชื่อ

หรือพิธีกรรมใดๆได้เลย


1. การนมัสการเป็นความลับลึก


การนมัสการเป็นทั้งการสำแดงของพระเจ้า แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นความลับลึกของพระองค์ด้วย ผู้นมัสการพบว่าตนกำลังเข้าเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยความยำเกรงในความมหัศจรรย์ล้ำลึกของพระองค์ที่เกินความเข้าใจของมนุษย์ ด้วยความรู้สึกเหมือนกับอาจารย์เปาโล เมื่อท่านเห็นนิมิต และได้รู้จักชายคนหนึ่งผู้เลื่อมใสในพระคริสต์สิบสี่ปีก่อนที่ถูกรับขึ้นไปยังเมืองบรมสุขเกษม เขาได้ยินวาจาซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้ และมนุษย์จะออกเสียงก็ต้องห้าม (2 โครินธ์ 12:3-4) เพราะว่าในทางหนึ่งพระเจ้าสำแดงพระองค์ก็จริง แต่ในอีกทางหนึ่ง พระองค์ก็ยังทรงซ่อนเร้นพระองค์ด้วย อย่างที่ท่านอิสยาห์กล่าวว่า แท้จริงพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงซ่อนพระองค์ (อิสยาห์ 45:15) และปาสคาลก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ทรงเป็นพระเจ้าที่ซ่อนเร้น (Deus Absconditus) หรือ Hidden God อย่างไรก็ตาม พระเจ้าที่ทรงซ่อนเร้นอยู่นั้นก็ได้สำแดงพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย ดังนั้น มนุษย์จึงสามารถรู้จักพระเจ้าได้ก็ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงสำแดงพระองค์เองแก่มนุษย์


คุณค่าที่ลึกซึ้งของการนมัสการ อยู่ที่ความลับลึกของพระเจ้าเองและอยู่ที่การให้มนุษย์มีโอกาสได้สัมผัสทั้งความลับลึก หรือ อุตรภาพของพระเจ้า (God’s Transcendence) และการสำแดงของพระเจ้า หรือ อันตรภาพของพระองค์(God’s Immanence)ไปพร้อมๆกันดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นมัสการกับพระเจ้าจึงเป็นความสัมพันธ์อันมหัศจรรย์ทำนองเดียวกับการทรงสำแดงผ่านพระเยซูคริสต์ หรือผ่านพระราชกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คริสตจักรจึงร่วมกันนมัสการด้วยท่าทีแห่งความเคารพยำเกรงในความลับลึกของพระองค์


2. การนมัสการเป็นการเฉลิมฉลอง


การนมัสการเป็นการเฉลิมฉลองในพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อประชากรของพระองค์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นการทรงสร้างการเสด็จเข้ามาบังเกิดของพระเยซูคริสต์เรื่องของกางเขนและการคืนพระชนม์ การนมัสการจึงเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระคริสต์ เราจึงนมัสการพระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดีและชื่นบานในความรอด


การนมัสการเป็นการเฉลิมฉลองความเป็นพระเจ้าผู้ทรงเป็นจอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์และจอมเจ้านายเหนือเจ้านาย เฉลิมฉลองด้วยท่าทีแห่งความเปรมปรีดิ์และด้วยใจโมทนาพระคุณที่ได้รับเลือกเป็นประชากรที่ได้รับการไถ่ เฉลิมฉลองด้วยความร่าเริงยินดีที่มีพระเจ้าประทับอยู่ด้วย ดังเช่นกษัตริย์ดาวิดที่ทรงเต้นรำด้วยความรื่นเริงยินดี ในขณะที่พระองค์อัญเชิญหีบพันธสัญญาอันเป็นสัญลักษณ์ของการทรงสถิตของพระเจ้านั้นขึ้นมายังศิโยนในกรุงเยรูซาเล็มกษัตริย์ดาวิดทรงเฉลิมฉลองด้วยการเต้นรำถวายแด่พระเจ้าอย่างสุดกำลังของท่านส่วนประชากรก็เฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั้งด้วยเสียงโห่ร้องและด้วยเสียงเป่าเขาสัตว์ (2 ซามูเอล 6:14-16)



3. การนมัสการเป็นการอุทิศถวาย


การนมัสการเป็นการอุทิศถวายแด่พระเจ้าเป็นโอกาสที่ผู้นมัสการจะตอบสนองความรักของพระองค์พระเจ้าทรงพร้อมที่จะรับการอุทิศถวายเหมือนอย่างในพันธสัญญาเดิมนั้นประชากรอิสราเอลนมัสการพระเจ้าโดยการนำเครื่องบูชาชนิดต่างๆมาให้ปุโรหิตเป็นตัวกลางมอบถวายแด่พระองค์ในพันธสัญญาใหม่การนมัสการเป็นการที่มนุษย์ตอบสนองต่อพระเจ้าพระผู้สร้างด้วยใจที่สำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์โดยการถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระเจ้าเพื่อถวายพระเกียรติและสง่าราศีกลับคืนสู่พระองค์ ดังนั้นการนมัสการจึงมีตั้งแต่การสรรเสริญในพระลักษณะของพระองค์การขอบพระคุณในพระราชกิจของพระองค์การรับพระวจนะจากพระองค์เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต การมอบความวางใจในพระองค์และการยอมจำนนต่อน้ำพระทัย และการอุทิศถวาย (โรม 12:1)



ริค วอร์เรนกล่าวว่าการนมัสการเป็นการตอบสนองความรักของพระเจ้าด้วยความรักของผู้นมัสการที่ตามด้วยใจที่จำนนและมอบถวายแด่พระองค์ออสวอลด์แชมเบอร์สกล่าวว่าการนมัสการเป็นการถวายพระพรอันล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานกลับคืนให้พระองค์เป็นการใช้เวลาใคร่ครวญต่อพระพักตร์พระเจ้าเพื่อถวายพระเกียรตินั้นคืนแด่พระองค์ในรูปของการนมัสการด้วยความตั้งใจกระทำอย่างแท้จริง


4. การนมัสการเป็นการทรงเรียกให้กระทำภารกิจ


การนมัสการเป็นการทรงเรียกให้กระทำภารกิจเหมือนโมเสสที่ได้พบทูตของพระเจ้าที่ปรากฏ ณ ภูเขาโฮเร็บเป็นพุ่มไม้ที่ลุกเป็นเปลวไฟพระเจ้าสั่งให้ท่านถอดรองเท้าออกเพื่อนมัสการพระองค์เพราะ

ณที่นั่นเป็นสถานที่บริสุทธิ์ที่พระเจ้าประทับอยู่โมเสสได้นมัสการพระเจ้าในท่าทีเคารพยำเกรงแล้วแต่การนมัสการนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะพระเจ้ามีทรงมีภารกิจสำคัญยิ่งที่พระองค์จะมอบหมายให้แก่โมเสส คือการนำทาสชาวฮีบรูออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ถึงแม้ว่าโมเสสจะไม่กล้ารับภารกิจนี้ในทันทีแต่เมื่อท่านยอมจำนนต่อน้ำพระทัยของพระองค์แล้วท่านก็ยอมทำภารกิจสำคัญตามที่พระเจ้าบัญชาทุกประการการยอมรับการทรงเรียกให้กระทำภารกิจ

เช่นนี้แหละจึงจะถือว่าเป็นการนมัสการที่สมบูรณ์


5. การนมัสการเป็นการให้ค่าที่คู่ควรแด่พระเจ้า


การนมัสการเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ผู้ที่จะนมัสการพระองค์นั้นต้องมีมือที่สะอาดและใจที่บริสุทธิ์เพราะพระเจ้าทรงบริสุทธิ์แต่ชีวิตของทุกคนย่อมมีความผิดบาปแอบซ่อนอยู่ภายในจึงต้องอธิษฐานสารภาพความผิดบาปเสียก่อนถ้ามีเหตุขัดเคืองกับพี่น้องอยู่ก็ต้องให้อภัยและกลับไปคืนดีกับผู้นั้นก่อนจึงจะสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์เพื่อการให้ค่าที่คู่ควรแก่พระองค์ได้ (มัทธิว 5:24)


ราล์ฟ พี.มาร์ติน กล่าวว่า การนมัสการเป็นการเฉลิมฉลองความเป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ เพราะพระองค์ทรงสูงส่งและทรงคู่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่งการนมัสการพระเจ้าเป็นทั้งกิริยาที่แสดงออกและเป็นแรงบันดาลใจจากภายในที่กระตุ้นให้ถวายพระเกียรติที่คู่ควรแด่พระองค์.

บทความนี้ เป็นฉบับย่อของสารนิพนธ์เรื่อง “คุณค่าแห่งการนมัสการ” ของบีไอที


ผู้เขียน: วิจิตรา อัครพิชญธร, อาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์: ศาสนาจารย์ ดร. รุ่ง เริงสันติ์อาจิณ,



ตอนที่ 2 การนมัสการในยุคต่างๆ


การนมัสการได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนบรรพชนอิสราเอลเรื่อยมาไปจนกระทั่งถึงการนมัสการในสวรรค์ ตามนิมิตที่พระเจ้าสำแดงแก่ท่านอัครสาวกยอห์น


ก. การนมัสการในยุคพันธสัญญาเดิม


1. ยุคโบราณ


มนุษย์ยุคโบราณนมัสการเทพเจ้าหรือพระต่างๆโดยการถวายเครื่องบูชาเพื่อขอพรตามที่ตนต้องการและขอการคุ้มครองจากภูตผีปีศาจต่างๆสิ่งที่ถวายบูชามีทั้งพืชและสัตว์นอกจากนี้บางกลุ่มมีการบูชายัญเด็กเล็กหรือมีการติดต่อกับวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงหลับไปแล้วอีกด้วยลักษณะของการนมัสการในยุคโบราณนั้นเป็นการนมัสการสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติและการมีพระเจ้าหลายองค์การถวายเครื่องบูชาและการบูชายัญการประกอบพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อความเป็นสิริมงคลปัดเป่าวิญญาณที่ชั่วร้ายลบล้างความโกรธของพระต่างๆเพื่อให้อยู่ดีกินดีการเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์และเพื่อติดต่อกับวิญญาณของบรรพบุรุษ


2. ยุคบรรพชนอิสราเอล


การนมัสการในยุคบรรพชนอิสราเอลมีลักษณะสำคัญ4ประการได้แก่ประการแรกการนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวประการที่สองการสร้างแท่นบูชาโดยการใช้ก้อนหินมาเรียงซ้อนกันเป็นแท่นโดยเลือกสถานที่พิเศษที่ตนมีประสบการณ์กับพระเจ้าเป็นสถานที่สร้างแท่นบูชาแล้วมีการตั้งชื่อไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงประการที่สามมีการนำสัตว์ที่ปราศจากมลทินและตำหนิมาเป็นเครื่องบูชาบนฟืนที่เรียงอย่างเป็นระเบียบบนแท่นบูชามักใช้มีดแทงสัตว์นั้นจนตายและโลหิตไหลออกมาแล้วจึงเริ่มเผาด้วยไฟในที่สุดประการสุดท้ายผู้กระทำพิธีต้องมีท่าทีที่ยำเกรงพระเจ้าและมีการดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังพระองค์


3. ยุคอพยพ

การนมัสการที่ภูเขาซีนายมีองค์ประกอบ5ประการได้แก่ประการแรก การชุมนุมของประชากรที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าประการที่สองการจัดให้ประชากรทุกคนมีหน้าที่และมีส่วนร่วมในการนมัสการตั้งแต่ผู้นำโมเสส,อาโรน,นาดับ,อาบีฮู,พวกผู้ใหญ่เจ็ดสิบคนรวมทั้งคณะนักดนตรีโดยให้มีหน้าที่ที่แตกต่างกันประการที่สามการประกาศพระวจนะพระเจ้าโดยการที่โมเสสอ่านหนังสือพันธสัญญาให้ชนอิสราเอลฟังประการสุดท้ายการรื้อฟื้นพันธสัญญาแห่งการอุทิศตนแด่พระเจ้าซึ่งเมื่อประชากรฟังแล้วก็ยอมรับว่าจะกระทำตามเงื่อนไขของพันธสัญญานั้นประการที่ห้าการประทับตราพันธสัญญาด้วยเลือดของโค(อพย.19-24)ในยุคอพยพนี้ถือว่าการนมัสการได้หล่อหลอมเข้าไปในชีวิตของชนชาติอิสราเอลโดยผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และปุโรหิตผู้บริสุทธิ์หน้าที่หลักของปุโรหิตคือการถวายเครื่องบูชาส่วนชนชาติอิสราเอลก็นำสัตวบูชาและธัญญบูชามาถวายเพื่อลบล้างความผิดของตนพระเจ้าจะทรงอภัยโทษและรับของถวายนั้น


4. ยุคผู้วินิจฉัย


ในยุคผู้วินิจฉัยนี้ยังมีการนมัสการในเต๊นท์พลับพลาอยู่เพียงแต่ไม่มีการเคลื่อนย้ายเนื่องจากในยุคนี้คนอิสราเอลเข้ายึดครองดินแดนคานาอันได้อย่างสมบูรณ์แล้ว พวกเขาได้ตั้งพลับพลาไว้ที่เมืองชิโลห์(1ซ้อ1:3)และอยู่ที่นั่นถึง200ปีมีการสร้างแท่นบูชาขึ้นณที่ต่างๆสถานที่นมัสการพระเจ้าแห่งแรกในดินแดนคานาอันก็คือกิลกาล(ผู้วินิจฉัย2:1)และเป็นสถานที่ที่ซาอูลได้รับการเจิมตั้งขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอลและหลังจากนั้นมาทุกปีก็ได้มีการนมัสการเฉลิมฉลองการเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญาที่นี่ด้วยแท่นบูชาทุกแห่งถูกสร้างขึ้นก็เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงชัยชนะของคนอิสราเอลในการรบกับศัตรูและเป็นการนมัสการเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า


5. ยุคกษัตริย์


ต่อมา หลังยุคผู้วินิจฉัยอิสราเอลเริ่มมีกษัตริย์ปกครองกษัตริย์ก็มักจะเป็นผู้นำในการนมัสการเพราะถือว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าเจิมตั้งให้เป็นผู้นำชนชาติประชากรของพระองค์กษัตริย์ดาวิดเป็นผู้หนึ่งที่รักในการนมัสการพระเจ้ามากทรงสร้างแท่นบูชาขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มเป็นครั้งแรกหลังจากที่พระองค์ได้ทรงนำขบวนแห่เพื่อนำหีบพันธสัญญาเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ที่นั่นก็กลายเป็นศูนย์กลางของการนมัสการของชนอิสราเอลพระองค์ได้ทรงสร้างพลับพลาขึ้นที่ศิโยนด้วยที่เรียกว่า“พลับพลาของดาวิด”ถึงกระนั้นการนมัสการในพลับพลาของดาวิดก็ยังมีความแตกต่างกับพลับพลาแบบโมเสสมากเพราะไม่มีการถวายสัตวบูชาคงเน้นแต่การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าการบรรเลงดนตรีอันไพเราะโดยเผ่าเลวีและการร่ายรำอันงดงามเท่านั้นโดยผู้ปรนนิบัติคือบุตรหลานของอาสาฟ,เฮมานและเยดูธูน(1พงศาวดาร25:1)ยิ่งกว่านั้นการนมัสการในพลับพลานี้มีต่อเนื่องตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน(1พงศาวดาร16:4)ดังนั้นความล้ำค่าของการนมัสการในสมัยนั้นจึงเปลี่ยนไปอยู่ที่การเฉลิมฉลองการสรรเสริญและยกย่องพระเจ้าด้วยเสียงเพลงและศิลปะต่างๆแทนการถวายสัตวบูชาในยุคก่อนๆ


พระวิหารและเต็นท์พลับพลาต่างมีคุณค่าในการนมัสการพระเจ้าคุณค่าที่เหมือนกันคือทั้งสองแบบต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของการสถิตอยู่ด้วยและการปกครองของพระเจ้าเหนือชนชาติอิสราเอลอีกทั้งยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชากรทั่วไปสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ทุกเมื่อแม้ว่าพระวิหารอาจต่างจากเต๊นท์พลับพลาตรงที่เป็นสิ่งก่อสร้างแบบถาวรที่มั่นคงและใหญ่โตกว่า แต่สำหรับบทบาทหน้าที่และความหมายในเชิงสัญลักษณ์นั้นทั้งพระวิหารและเต็นท์พลับพลามีคุณค่าที่เท่าเทียมกันทุกประการ


6. ยุคผู้เผยพระวจนะ

ต่อมาชาวอิสราเอลไม่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าหันไปกราบไหว้พระอื่นบรรดาผู้เผยพระวจนะจึงออกมาประณามพิธีกรรมทางศาสนาที่กระทำกันแต่เพียงเปลือกนอกตำหนิการนมัสการรูปเคารพและพระเทียมเท็จทั้งหลายตลอดจนตักเตือนประชาชนที่นมัสการพระเจ้าด้วยแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องผู้เผยพระวจนะอาโมสรังเกียจเทศกาลฉลองของอิสราเอลและการถวายเครื่องบูชาอย่างไม่จริงใจของประชาชนและเรียกร้องให้เขากลับใจเสียใหม่ให้กระทำต่อผู้อื่นอย่างยุติธรรมและชอบธรรม“จงให้ความยุติธรรมหลั่งไหลลงอย่างน้ำและให้ความชอบธรรมเป็นอย่างลำธารที่ไหลอยู่เป็นนิตย์”(อาโมส 5:24)ผู้เผยพระวจนะโฮเชยาเผยพระวจนะว่าสิ่งที่พระองค์ต้องการจากประชากรของพระองค์มากที่สุดคือความรักที่จะเขาจะถวายให้พระองค์และทรงต้องการให้เขาแสวงหาความรู้ในพระองค์ให้มากขึ้น แทนการถวายแต่เครื่องสัตวบูชาเท่านั้น(โฮเชยา 6:6)


ข. การนมัสการในยุคพันธสัญญาใหม่

ความล้ำค่าของการนมัสการได้เปลี่ยนจากระบบการถวายสัตวบูชาไปเป็นการสอนพระวจนะเนื่องจากการถวายบูชานั้นไม่จำเป็นต้องกระทำอีกต่อไปแล้วหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เพื่อเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของมนุษย์ซึ่งกระทำเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอดังนั้นความล้ำค่าของการนมัสการจึงเปลี่ยนมาอยู่ที่การนมัสการสรรเสริญพระเจ้าการอธิษฐานและการอ่านพระวจนะร่วมกัน


1. คริสตจักรยุคแรก


ในคริสตจักรยุคแรกความล้ำค่าของการนมัสการอยู่ที่การอ่านพระคัมภีร์เดิมและจดหมายฝากการเล่าเรื่องราวของการทนทุกข์ทรมานและการคืนพระชนม์แล้วจบลงด้วยการรับประทานอาหารร่วมกันซึ่งเป็นอาหารที่สมาชิกแต่ละคนนำมาและมีพิธีหักขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นด้วยต่อมาเมื่อพระกิตติคุณได้เผยแผ่ออกไปสู่รอบนอกไปจนถึงพวกยิวพลัดถิ่นที่กระจัดกระจายออกไปนอกประเทศมีการสอนให้ชาวยิวพลัดถิ่นเข้าใจกันใหม่ให้ตรงกันว่าพิธีกรรมถวายบูชาทั้งหมดได้สำเร็จแล้วในพระเยซูคริสต์ดังนั้นการถวายบูชาตามพิธีกรรมเดิมของชาวยิวก็เป็นอันล้มเลิกไป


2. คริสตจักรยุคกลาง


ในยุคกลางนี้มีการเปลี่ยนความหมายของการนมัสการไปมากการนมัสการที่เคยมีรูปแบบอิสระอีกทั้งการประกอบศาสนพิธีที่กระทำต่อเนื่องกันมาในคริสต์ศตวรรษที่ 3-4นั้นเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นทางการมากขึ้นจนกลายเป็นรูปแบบที่ตายตัวการนมัสการในยุคกลางเน้นที่พิธีมิสซาซึ่งเป็นศูนย์กลางของการนมัสการประเด็นสำคัญคือเรื่องของศาสนศาสตร์ในพิธีมิสซาที่เชื่อในทฤษฎีของการแปรสาร(Theory of Transubstantiation)ที่ว่าเหล้าองุ่นและขนมปังเปลี่ยนไปเป็นพระโลหิตและพระวรกายของพระเยซูจริงในทันทีที่บาทหลวงผู้ประกอบพิธี


3. คริสตจักรยุคปฏิรูป

จุดศูนย์กลางของการนมัสการอยู่ที่พระวจนะไม่ใช่ให้พระวจนะเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยมีการพัฒนาการนมัสการอย่างสร้างสรรค์โดยการระดมความคิดใหม่ๆจากสมาชิกทุกคนภายในคริสตจักรและนำสิ่งที่ดีจากคริสตจักรอื่นเข้ามาประมวลด้วยเน้นการปรับปรุงกระบวนการนำผู้คนเข้ามาสู่คริสตจักรในการประกาศ และการเลี้ยงดูจิตวิญญาณรื้อฟื้นความสำคัญของพิธีมหาสนิทให้ผู้นมัสการมีส่วนร่วมมากขึ้นมีการใช้ดนตรีและเพลงร้องเพื่อมาเกื้อหนุนบรรยากาศโดยให้ที่ประชุมมีส่วนร่วมร้องสรรเสริญที่สำคัญคือ มีการปรับเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคริสตชนในทุกด้านไม่ใช่ปรับเปลี่ยนแต่เพียงการนมัสการหรือพิธีกรรมเท่านั้น


4. คริสตจักรยุคสมัยใหม่


คริสตจักรหลังการปฏิรูปยังเปลี่ยนแปลงต่อไปจนถึง“ยุคสว่าง”(The Enlightenment) ในคริสต์ศตวรรษที่18ที่เชื่อว่าโดยการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลมนุษย์สามารถมาถึงความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ศาสนาหรือปรัชญาเป็นยุคที่ใช้เหตุผลมาแทนความเชื่อและเน้นการใช้สติปัญญาของมนุษย์ในการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆเช่นมนุษย์,สังคมและจักรวาลช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่18นี้จึงเป็น“ยุคแห่งเหตุผล”(The age of reason)เรียกว่าลัทธิเหตุผลนิยม(Rationalism)เชื่อในการดำรงอยู่ขององค์ผู้สูงสุดแต่พระองค์ผู้ทรงพระชนม์อยู่นั้นทรงปฏิบัติพระราชกิจของพระองค์บนพื้นฐานแห่งเหตุผลที่เน้นการใช้เหตุผลของมนุษย์มาอธิบายสิ่งลึกลับต่างๆซึ่งเท่ากับลดคุณค่าของการดำรงอยู่ของพระเจ้าลดคุณค่าความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ลงเหลือเพียง“เยซูแห่งประวัติศาสตร์”เท่านั้นและลดความล้ำค่าของการนมัสการพระเจ้าลงเหลือเพียงน้อยนิดด้วยสติปัญญาที่จำกัดของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง


5. คริสตจักรยุคหลังสมัยใหม่


มีการปฏิรูปด้านวรรณกรรมและศิลปะและในช่วงค.ศ.1960-1980มีการตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์เป็นยุคแห่งปฏิสัมพันธ์ต่อหลักการของยุคสมัยใหม่ยุคนี้มีข้อดีตรงที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางไม่ได้แสวงหาความสำเร็จหรือตอบสนองความต้องการของตนเองอีกต่อไปแต่จะใส่ใจกับการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งมากกว่าดังนั้นจึงสามารถลดการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นลงได้มากคริสตจักรส่วนใหญ่จัดการนมัสการแบบร่วมสมัยโดยมีจุดเด่นในการร้องเพลงสรรเสริญอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย20-30นาทีแต่บางครั้งอาจเน้นดนตรีและการร้องเพลงมากจนแทบจะลืมความสำคัญของพระวจนะและพิธีมหาสนิทไปยุคนี้เป็นยุคที่ผู้นมัสการเน้นเรื่องสาระฝ่ายวิญญาณมากที่สุดจึงรักในการนมัสการมากที่สุดด้วย


บทความนี้ เป็นฉบับย่อของสารนิพนธ์เรื่อง
“ความล่ำค่าแห่งการนมัสการ 2”

ของสถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

ผู้เขียน: วิจิตรา อัครพิชญธร,อาจารย์ที่ปรึกษา: ศาสนาจารย์ ดร. รุ่ง เริงสันติ์อาจิณ(ผู้อำนวยการสถาบัน)

(ท่านที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากห้องสมุดของสถาบันบีไอที)

ไม่มีความคิดเห็น:

My Blog

  • วินัยของน้องหมา (ข้างถนน) - วันที่ 18/8/2011 เช้านี้ขณะที่รถติดไฟแดงอยู่บริเวณสี่แยกสามย่าน ซึ่งเบื้องหน้าเป็นจามจุรีสแควร์นั้น พลันก็เหลือบเห็นน้องหมาตัวหนึ่งเดินข้ามทางม้าลายด้วยอ...
    12 ปีที่ผ่านมา
  • บทความคริสเตียน - บทความคริสเตียน http://www.gracezone.org/index.php/christian-articles บทความทางด้านจิตวิญญาณ หลักข้อเชื่อ พระเจ้า พระคัมภีร์ พระเจ้า พระคัมภีร์ แนวทางในการ...
    15 ปีที่ผ่านมา
  • คริสเตียนกับการรับใช้พระเยซู - คริสเตียนกับการรับใช้พระเยซู วัน พุธ 08 ต.ค. 08@ 17:47:37 ICT หัวข้อ: สรุปคำเทศนาประจำอาทิตย์ ดร.ทะนุ วงค์ธนานุกุล วัน อาทิตย์ ที่ 21 กันยายน 2008 พระธร...
    15 ปีที่ผ่านมา
  • - แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้...
    15 ปีที่ผ่านมา

Christian Blog

บล็อกวาไรตี้

เทคโนโลยี

ดาวน์โหลดโปรแกรมมาใหม่ล่าสุด |

วาไรตี้

ข่าวประจำวัน

สารบัญเว็บไทย

กินลม ชมทะเล ที่มาร์คเฮ้าส์บังกะโล เกาะกูด จ.ตราด

Thailand Map